xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นค่าแรง 2-10 บาท/วันยังค้างเติ่ง เอกชนลุ้นรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ชี้ชะตา แนะ “ลอยตัว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอกชนลุ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่เคาะชี้ชะตาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-10 บาท/วันหรือไม่ แนะเปลี่ยนนโยบายไปอิงกลไกลอยตัว เหตุแรงงานไทยขาดแคลน แถมการศึกษาเฉลี่ยสูง ค่าแรงควรให้สะท้อนความต้องการตลาด ผวาการเมืองกลับมาใช้ค่าแรงหาเสียง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างที่ค้างอยู่ในปัจจุบันคงจะต้องรอความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ ซึ่งภาคเอกชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ควรกำหนดกลไกแบบลอยตัวแทนแต่ยังคงมีค่าแรงอ้างอิงแบบขั้นต่ำไว้ (Minimum Rate) เพื่อดูแลผู้ด้อยโอกาส แทนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับขึ้นทุกปีเช่นปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากไทยอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแรงงานและแรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับสูงจึงควรมุ่งการขึ้นค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือแรงงานให้มากขึ้น

“แรงงานไทยนั้นได้ค่าจ้างสูงเกินอัตราขั้นต่ำอยู่แล้ว เพราะแรงงานไทย 60-70% มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาหมด และหากมีฝีมือแรงงานและประสบการณ์ค่าแรงก็ได้รับสูง ขณะที่แรงงานต่างด้าวเองมีกว่า 3 ล้านคนเมื่อปรับขั้นต่ำก็จะทำให้ฐานค่าจ้างทั้งระบบแปรปรวน และเมื่อไทยนั้นขาดแคลนแรงงานพอสมควรตลาดย่อมที่จะแข่งขันกันในการดึงคนที่มีฝีมือมาทำงานอยู่แล้ว” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงานลงพื้นที่เพื่อหารือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสภาเกษตรกรแห่งชาติระดับจังหวัด ก็พบว่าแรงงานของไทยภาพรวมยังคงขาดแคลน และการนำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปคิดรวมกับทุกภาคธุรกิจไม่ได้ โดยเฉพาะค่าแรงในภาคบริการก็ไม่สามารถใช้กับภาคการเกษตร โดยเอกชนได้เสนอว่าควรแยกกฎหมายแรงงานออกจากกัน

ทั้งนี้ เดิมบอร์ดค่าจ้างกลางกำหนดวาระการประชุมเพื่อพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากปลัดแรงงานในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างได้ลาออกไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ลาออกไปเป็น ส.ว.เช่นกันทำให้การพิจารณาการขึ้นค่าแรงยังคงค้างจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นไว้ 2-10 บาท/วัน ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 31 จังหวัดเสนอ ขณะที่อีก 46 จังหวัดที่จะค่าจ้างจังหวัดไม่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างให้ปรับขึ้นในอัตรา 2 บาท/วัน โดยจังหวัดที่ได้รับการเสนอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 10 บาท/วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และภูเก็ต ปรับขึ้น 7 บาท/วัน ได้แก่ สมุทรปราการ ส่วนชลบุรี, ระยอง ให้ปรับขึ้น 5 บาท/วัน

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คงต้องติดตามนโยบายค่าแรงอีกครั้งหลังมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะมาจากโควตาของพรรคร่วม ซึ่งเอกชนกังวลว่าจะนำมาเป็นนโยบายหาเสียงโดยเห็นว่าควรจะเปลี่ยนไปสู่การลอยตัวมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น