xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.ชี้แหล่งอุบล FID ไม่ทันปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปตท.สผ.ยอมรับโครงการอุบลประกาศตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID )ไม่ทันในปีนี้ แต่จะมีโครงการ E&P ใหม่เข้ามาเสริม ด้านเชฟรอนในฐานะผู้ดำเนินการโครงการอุบลเผยอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้กำหนด FID

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยความคืบหน้าการประกาศตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) โครงการอุบลว่า เดิมบริษัทตั้งเป้าหมายตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย 3 โครงการแหล่งปิโตรเลียมเพื่อพัฒนาโครงการภายในปีนี้ ได้แก่โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซ ที่แอลจีเรีย โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน และโครงการอุบล แต่ล่าสุด ทางเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตในฐานะผู้ดำเนินการ (Operator)โครงการคอนแทรก 4 ยังอยู่ระหว่างศึกษาและไม่มีสัญญาณว่าจะประกาศ FIDโครงการอุบล ทำให้โครงการอุบลไม่น่าจะFIDได้ทันปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการอุบลจะไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ในปี 2562 แต่ ปตท.สผ.ยังคงแสวงหาการลงทุนโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่ๆเพิ่มเติม ล่าสุดบริษัทฯ ได้ตัดสินใจซื้อเมอร์ฟี ออยล์ ที่มาเลเซีย ทำให้รับรู้กำลังการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นปีละ 4-5 หมื่นบาร์เรล/วัน คาดว่าจะปิดดีลชำระเงินซื้อกิจการในเดือน มิ.ย.นี้

ปัจจุบันแหล่งอุบลหรือแปลงจี 7/50 มีบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) ถือหุ้น 45% บริษัท เชฟรอน ปัตตานี จำกัด (ผู้ดำเนินการ) 35% และบริษัท ปตท.สผ.จี7 จำกัด (ปตท.สผ.จี7) 15% โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตน้ำมันดิบปีละ 25,000 บาร์เรล/วัน และก๊าซฯ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปี 2565-2566

ส่วนโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซ ที่ ปตท.สผ.ถือหุ้นอยู่ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อเริ่มพัฒนาโครงการ ระยะที่ 1 ตามแผนการพัฒนาที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ALNAFT) โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาได้ในเดือน มี.ค. 62 และคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2564 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนแผนระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 50,000-60,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2568

สำหรับโครงการโมซัมบิก ที่ ปตท.สผ.ถือหุ้น 8.5% คาดว่าเดือน มิ.ย.นี้จะประกาศ FID ได้ หลังจากล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมที่เคยกำหนดไว้ในเดือน เม.ย. 2562 เนื่องจากต้องได้รับการอนุมัติการพัฒนาจากหน่วยงานรัฐของโมซัมบิกก่อน แม้ว่าการประกาศ FID ล่าช้าไปบ้างแต่ไม่กระทบต่อแผนการผลิตเชิงพาณิชย์โดยโครงการนี้มีลูกค้าทำสัญญาซื้อแอลเอ็นจีระยะยาวประมาณ 80% ของกำลังการผลิตเบื้องต้น 12.88 ล้านตัน/ปี

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการอุบลว่า ขณะนี้ทางทีมงานอยู่ระหว่างการศึกษาอยู่ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะ FID ได้ในปีนี้หรือไม่

“เราศึกษาโครงการอุบลมาหลายปี นับเป็นแหล่งมีความท้าทายตลอด มันยากที่จะทำ FID เพราะเป็นแหล่งขนาดเล็กและซับซ้อน จึงต้องใช้เงินลงทุนสูง”
กำลังโหลดความคิดเห็น