ทลฉ.เร่งปรับ TOR ประมูลจ้างเอกชนบริหาร SRTO หลังบอร์ด กทท.เคาะยืดสัญญาจาก 1 ปีเป็น 5 ปี หวั่นจ้างสั้นเอกชนเมิน ยอมรับค่าภาระ 376 บาท/ตู้ต่ำมาก หากประมูลเหลวต้องปรับเพิ่ม โอดเปิดใช้ตั้งแต่ปี 61 มีสินค้าแค่ 1 หมื่นตู้/เดือน แถมแบกค่าโอทีพนักงานเดือนละ 3 แสนบาท
เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทลฉ.ได้เร่งปรับปรุงทีโออาร์ในการประมูลจ้างเอกชนดำเนินงานยกตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟและเคลื่อนย้ายสินค้าภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) หลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ได้เห็นชอบขยายระยะเวลาจ้างจาก 1 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้นและจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมประมูล โดยกำหนดอัตราค่าภาระไว้ที่ 376 บาทต่อตู้ คาดว่าจะประมูลและได้ตัวผู้รับจ้างใน 3 เดือน
โครงการ SRTO กทท.ลงทุนก่อสร้างและจัดหาเครื่องมือเอง โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561 แล้วแต่ยังไม่สามารถจัดจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการได้ กทท.ต้องให้บริการยกตู้สินค้าและขนส่งเอง โดยใช้พนักงานจากท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 6 คน มาดำเนินการควบคุมเครื่องมือ ได้แก่ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าชนิดเดินบนรางคร่อมรางรถไฟ (RMG) และรถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้า (RTG) ในลานกองเก็บตู้สินค้า ซึ่งมีภาระค่าล่วงเวลาโอทีถึง 3 แสนบาทต่อเดือน
ส่วนการขนสินค้าไปยังท่าเรือต่างๆ ได้ประสานกับผู้ประกอบการให้เข้ามารับ โดยจากค่าบริการที่ 376 บาทต่อตู้นั้น ทลฉ.ได้รับส่วนแบ่งที่ 65 บาท ส่วนเอกชนที่เข้าขนสินค้าไปส่งได้รับ 312 บาท
สำหรับการจัดหาเอกชนเข้ามาดำเนินการ SRTO นั้นเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ทลฉ.กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นให้เอกชนจัดหากำลังประมาณ 100 คนสำหรับควบคุมเครื่องมือยกตู้สินค้า RMG และ RTG รวมถึงจัดหารถหัวลากพร้อมคนขับสำหรับขนตู้สินค้าจากลานไปส่งตามท่าเรือต่างๆ ซึ่งโครงการ SRTO ได้ออกแบบสำหรับรองรับตู้สินค้า 2 ล้านตู้/ปี
ทั้งนี้ ครม.มีมติอนุมัติค่าภาระ SRTO ในอัตราขั้นต่ำ 376 บาท และขั้นสูงไม่เกิน 835 บาท ต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ ซึ่งในปีแรกให้เก็บในอัตราขั้นต่ำที่ 376 บาท ขณะที่ SRTO ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561 แล้ว ดังนั้น หลังเปิดประมูลหากไม่มีเอกชนยื่นประมูลอาจจะต้องเสนอบอร์ด กทท.ปรับค่าภาระให้เหมาะสม เนื่องจากเมื่อเทียบกับค่าบริการที่ผู้ประกอบการอื่นๆ ในท่าเรือแหลมฉบัง เรียกเก็บเฉลี่ย 500 บาทต่อตู้
“ตอนนี้มีข้อจำกัดเพราะมีพนักงานแค่ 6 คน ศักยภาพรองรับสินค้าได้จำกัด ปัจจุบันจึงมีปริมาณตู้สินค้าประมาณ 1 หมื่นตู้ต่อเดือนเท่านั้น หรือประมาณ 1.2-1.3 แสนตู้ต่อปี ขณะที่ กทท.ต้องแบกภาระค่าล่วงเวลาเดือนละ 3 แสน ตอนนี้รอว่าเปิดประมูลไปแล้วจะมีเอกชนเข้ามายื่นหรือไม่ หากไม่มีก็อาจจะต้องเสนอบอร์ดขอปรับค่าภาระใหม่”
อย่างไรก็ตาม โครงการ SRTO จะเกิดประโยชน์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่จะสามารถขนส่งตู้สินค้าจากไอซีดีลาดกระบังไปยัง ทลฉ. ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้กำหนดในสัญญาบริหารไอซีดีลาดกระบัง ว่าจะต้องมีการขนส่งสินค้าทางรางที่สัดส่วน 50% หรือประมาณ 7 แสนตู้ต่อปี จากทั้งหมด 1.4 ล้านตู้ต่อปี โดย ร.ฟ.ท.จะมีรายได้จากค่าเช่าแคร่ ค่าวางตู้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าระวางขนส่ง ดังนั้น หากขนส่งสินค้าทางรางได้มากเท่าไร ร.ฟ.ท.จะมีรายได้มากเท่านั้น
สำหรับปริมาณตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบัง ในช่วงไตรมาส 1-2/2562 ยังคงเติบโตในอัตราปกติ 2-3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และการนำเข้าส่งออกของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน