อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยนับได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่ทำเงินตราเข้าประเทศได้อย่างมากมาย และดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยจำนวนมาก ผลงานที่ผ่านมาค่อนข้างที่จะเป็นไปในทางบวกอย่างสม่ำเสมอ
โดยพิจารณาจากผลงานไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2562 จะพบว่าทีเส็บทำผลงานได้ดี โดยแยกเป็น 1. กลุ่มประชุม (Meeting) มีปริมาณ 50,588 คน สร้างรายได้ 4,776 ล้านบาท, 2. กลุ่มอินเซนทีฟ หรือท่องเที่ยวเพื่อให้รางวัล (Incentive) มีปริมาณ 78,472 คน สร้างรายได้ 4,499 ล้านบาท, 3. กลุ่มคอนเวนชัน (Convention) มีปริมาณ 69,218 คน สร้างรายได้ 5,542 ล้านบาท และ 4. กลุ่มจัดงานแสดงสินค้าหรือเอ็กซิบิชัน มีปริมาณ 43,129 คน สร้างรายได้ 3,214 ล้านบาท
ทั้งนี้ โดยรวมแล้วไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2562 มีปริมาณ 241,407 คน สร้างรายได้ 18,031 ล้านบาท เพิ่มจากงวดเดียวกันปี 2561 ที่มีปริมาณ 221,840 คน และสร้างรายได้ 17,112 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2562 ก็ดีไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน
ภาพรวมพบว่าธุรกิจไมซ์ของไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทั้งปริมาณและรายได้มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศรวม 8,106,120 คน เพิ่ม 2.89% สร้างรายได้รวม 54,772 ล้านบาท เพิ่ม 6.27% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561
ส่วนตลาดไมซ์ต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในไทยพบว่ามีจำนวนรวม 353,256 คน สร้างรายได้ 26,703 ล้านบาท ซึ่งตลาดการประชุมสัมมนาองค์กร (Meetings) เป็นกลุ่มที่มีจำนวนนักเดินทางไมซ์เข้ามามากที่สุด ในส่วนของตลาดไมซ์ในประเทศมีผู้เดินทางรวม 7,752,864 คน ทำรายได้ 28,069 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นนักเดินทางกลุ่มงานแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions)
สำหรับไมซ์จากต่างประเทศ พบว่าธุรกิจการจัดประชุมสัมมนาองค์กรเติบโตสูงสุดทั้งจำนวนและรายได้ โดยจำนวนคนเพิ่ม 11% มีรายได้เพิ่ม 7% โดยนักเดินทางไมซ์ที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ
1. จีน จำนวนนักเดินทางไมซ์ 122,426 คน
2. อินเดีย จำนวนนักเดินทางไมซ์ 40,492 คน
3. ญี่ปุ่น จำนวนนักเดินทางไมซ์ 30,038 คน
4. ฮ่องกง จำนวนนักเดินทางไมซ์ 26,021 คน
5. อินโดนีเซีย จำนวนนักเดินทางไมซ์ 21,202 คน
ขณะที่ตลาดไมซ์ในประเทศ ธุรกิจการให้รางวัลพนักงานเดินทางท่องเที่ยว หรือ Incentives เติบโตสูงสุดทั้งจำนวนคนและรายได้ หรือคิดเป็นการเติบโตด้านจำนวนคน 18% และรายได้ 180% โดยเมืองไมซ์ 5 อันดับแรกที่มีนักเดินทางไมซ์เข้ามามากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และพัทยา ตามลำดับ
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ตลาดรวมไมซ์ของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีการเติบโตสม่ำเสมอ อีกทั้งหลังจากที่มีการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้วนั้นยิ่งทำให้ต่างชาติมีความมั่นใจในประเทศไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งพบว่า ยังมีงานใหญ่ๆ อีกหลายงานที่เตรียมที่จะเข้ามาจัดธุรกิจไมซ์ในไทยอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางหรือเป็นประเทศเป้าหมายของไมซ์ต่างชาติ แต่ขณะเดียวกันเราเองก็ต้องพยายามหาตลาดใหม่ๆเข้ามารวมทั้งการขยายฐานตลาดเดิมๆ ด้วยเพื่อให้มีฐานที่เพิ่มขึ้น เพราะเราต้องแข่งกับอีกหลายประเทศที่พยายามที่จะผลักดันประเทศตัวเองขึ้นมาเป็นจุดหมายปลายทางด้านไมซ์แทนไทยเช่นกัน
หากมองภาพรวมแล้ว ไทยยังมีความได้เปรียบกว่าอีกหลายประเทศ เพราะเรามีทั้งวัฒนธรรมมีเรื่องราว มีทั้งสาธารณูปโภภที่พร้อม เรายังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสถานที่ที่มีมาตรฐานหลายแห่งรองรับ เรื่องที่พักโรงแรมของไทยก็มีมาตรฐานจำนวนมาก ไทยมีที่ท่องเที่ยว อาหาร และอื่นอีกมาก ที่ต่างชาติมาแล้วจะได้รับความประทับใจและซึมซับหลายอย่างมากกว่าแค่การมาเพียงธุรกิจไมซ์ รายได้จากการใช้จ่ายของกลุ่มไมซ์ก็จะตามมาอีกมาก
งานใหญ่ของทีเส็บ คือความพยายามในการเจาะตลาดไมซ์ทวีปยุโรปให้ได้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ล่าสุดคือการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์” กับกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ (Foreign Alliance - FCA)
หอการค้าจาก 4 ประเทศกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี เพื่อผลักดันไมซ์ร่วมกับองค์กรต่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาไมซ์ไทยในตลาดต่างประเทศ ขยายการดำเนินงานเจาะตลาดไมซ์ระยะไกล (Long Haul) ในภูมิภาคโอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกา นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายหลักตลาดไมซ์ระยะสั้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศนี้ ก็มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 20,000 รายเลยทีเดียว
ความร่วมมือรวม 5 ด้าน คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติและการจัดงานไมซ์ การพัฒนาธุรกิจไมซ์ การส่งเสริมการตลาดไมซ์ การศึกษาวิจัยสำหรับธุรกิจไมซ์ และการพัฒนาบุคลากรเพื่อธุรกิจไมซ์ โดยจัดทำแผนงานระยะแรกร่วมกันเป็นเวลาสองปี เบื้องต้นวางแผนร่วมกันดึงงานและสนับสนุนการจัดงานตามอุตสาหกรรมนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
อีกตลาดที่ทีเส็บเร่งเครื่องในการเจาะตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจ คือ ตลาด ASEAN+6 และ CLMV อีกด้วย
ผู้อำนวยการทีเส็บกล่าวว่า แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในครึ่งปีหลังเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้ 3 เป้าหมายยุทธศาสตร์หลัก คือ สร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ภูมิภาค และการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรม และเตรียมที่จะเปิดแผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เน้นทำงานเชิงบูรณาการที่มีเป้าหมายร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์
หากไทยสามารถพัฒนาทุกด้าน ไม่หยุดอยู่กับที่ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐบาลร่วมมือกัน มั่นใจว่า ประเทศไทยจะต้องขยับตำแหน่งขึ้นได้อีกแน่ จากปัจจุบันนี้ที่ไทยถูกจัดอันดับล่าสุดของสมาคมการประชุมนานาชาติระดับโลกปี 2561 (International Congress and Convention Association - ICCA) ที่ยกให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทย ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 4 ของทวีปเอเชียในด้านการประชุมนานาชาติ ด้วยจำนวนงานรวม 193 งาน โดยมี ญี่ปุ่น เป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วยจีน และเกาหลี โดยไทยยกระดับขึ้นจากอันดับที่ 5 ในปี 2560 ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย โดยมีจำนวนงานประชุมนานาชาติ 171 งาน
อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนแน่นอน เมื่อไมซ์ไทยแข็งแกร่ง รายได้ย่อมต้องเข้าประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ จากผลการวิจัยของบริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของธุรกิจไมซ์ในปีงบประมาณ 2561 มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่ารวม 251,400 ล้านบาท สร้างมูลค่าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 177,200 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
จากแผนงานและกลยุทธ์ ทีเส็บมั่นใจว่าในปี 2562 นี้ทีเส็บวางเป้าหมายว่าประเทศไทยจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์รวม 35,982,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศโดยรวม 221,500 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน ทำรายได้ 100,500 ล้านบาท นักเดินทางไมซ์ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท