xs
xsm
sm
md
lg

“ทีวีดิจิทัล” อุโมงค์ที่แทบไร้แสงสว่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - เส้นทางชีวิตทีวีดิจิทัล 50,864 ล้านบาท จาก 'ดาวรุ่ง' สู่ 'ดาวร่วง' กับ 5 ปีแรกเกือบเอาชีวิตไม่รอด ช่อง 7 สูญ 20,000 ล้านบาท ช่อง 3 กระอักเลือดขาดทุน 300 ล้านบาท หลังต้านแรงกดดันไม่ไหว กสทช.ยอมแก้เพื่อต่อลมหายใจ ทลายกำแพงความเสี่ยงสู่จุดการแข่งขันที่ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบอีกต่อไป พร้อมปะทะโลกออนไลน์ชิงคนดู

ตลอด 5 ปีหลังการประมูลทีวีดิจิทัล รวม 24 ช่องมูลค่า 50,864 ล้านบาท มีแต่ช่วงเวลาที่เหมือนเดินถอยหลังมากกว่าเดินไปข้างหน้า เพราะแทบไม่เห็นทางรอด จนมีผู้ที่ขอถอยทัพเป็นรายแรก คือ 'เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล' ในนาม บริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ไทยทีวี และช่องโลก้า ที่ประมูลมามูลค่ารวมกว่า 1,976 ล้านบาท และขอยกเลิกสัญญา และคืนทั้ง 2 ช่องไปตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา หลังดำเนินการมาราว 1 ปีกว่า เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง

"การตัดสินใจเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัลรายแรก ปล่อยให้จอดำในปี 2558 ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ถูกต้องว่าต้องยุติเลือดออก เพราะเห็นแล้วว่าการเข้าไปขอความช่วยเหลือจาก กสทช.ในช่วงนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง" นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ได้เปิดบ้านให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ หลังเหตุการณ์ 'คืนช่อง' เกิดขึ้น กลับทำให้สัญญาณภาวะการทำธุรกิจทีวีดิจิทัลแล้วขาดทุนกลับยิ่งเห็นชัดมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีผู้ออกจากเกมไปก่อน 2 ช่อง และเหลือผู้เล่นเพียง 22 ช่อง แต่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่ยังสูงเกินความจำเป็น ในยุคที่ผู้บริโภคดูทีวีน้อยลง และมือถือเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เทคโนโลยีและโลกออนไลน์เข้ามาแย่งชิงเวลาบนหน้าจอโทรทัศน์ให้เหลือน้อยลง เรตติ้งไม่ขึ้น โฆษณาก็ไม่เข้า ภาวะการขาดทุนจึงยิ่งสะสมจึงแทบไปต่อไม่ไหว แม้แต่ช่องระดับท็อปอย่างช่อง 7 และช่อง 3 ยังต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันอยู่ตลอดแต่ก็ยังมีรายได้ลดลง และขาดทุนตามมา

* ** 5 ปี ช่อง 7 สูญกว่า 20,000 ล้านบาท

ก่อนเข้าสู่ศึกทีวีดิจิทัลปีแรกในปี 2557 ปีก่อนหน้านั้นช่อง 7 มีรายได้อยู่ในระดับหมื่นล้านบาท หรือในปี 2556 มีรายได้ 10,312.05 ล้านบาท กำไรกว่า 5,510.87 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่ทีวีดิจิทัล รายได้และกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2560 มีรายได้เพียงครึ่งหนึ่งก่อนทำทีวีดิจิทัล หรืออยู่ที่ 5,723.92 ล้านบาท กำไรหล่นมาเหลือเพียง 1,516.86 ล้านบาท หรือช่วง 5 ปีที่ผ่านมาช่อง 7 สูญรายได้จากที่ควรจะเป็นไปกว่า 20,000 ล้านบาท


โชคดีว่าช่อง 7 ประมูลทีวีดิจิทัลมาเพียง 1 ช่อง มูลค่า 3,370 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนการจ่ายค่าสัมปทานไม่ต้องแบกรับจนเกินไป แต่ในแง่การแข่งขัน ถือว่ามีคู่แข่งมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ปัจจุบันช่อง 7 พร้อมชูจุดแข็งของช่อง อย่าง ละคร เป็นหัวหอกหลักในการทำรายได้ ซึ่งยังคงทำให้ช่อง 7 ยืนหนึ่งในอุตสาหกรรมทีวีอยู่ แม้ในแง่รายได้และกำไรจะหายไปหลายเท่าตัว

*** ช่อง 3 เจ็บกว่า 5 ปี ขาดทุน 300 ล้าน
ในส่วนของช่อง 3 เอง เดิมกลุ่มบีอีซีมองว่าการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลจะเป็นโอกาสที่ทำให้ช่อง 3 ยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า หากมีหลายช่องจึงได้ประมูลช่องทีวีดิจิทัลสูงถึง 3 ช่อง คิดเป็นมูลค่า 10,271 ล้านบาท แต่สุดท้ายไม่เป็นอย่างหวัง เพราะกลับทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และมีเพียงช่อง 3HD ที่ทำรายได้อย่างจริงจังอยู่เพียงช่องเดียว แต่ก็ประสบปัญหาเดียวกันกับทางช่อง 7 คือ รายได้และกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2557 ช่อง 3 มีรายได้กว่า 16,381.51 ล้านบาท กำไร 4,414.99 ล้านบาท หลังจากนั้นลดลงอย่างหนัก โดยเฉพาะกำไร ส่งผลให้ล่าสุดในปี 2561 ช่อง 3 มีรายได้ 10,375.70 ล้านบาท แต่เกิดภาวะขาดทุนเป็นปีแรกถึง 330.20 ล้านบาท

ภาวะกำไรที่ลดลงอย่างน่าใจหายนี้ส่งผลให้ช่อง 3 ต้องงัดทุกวิถีทางในการเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตำแหน่งบุคลากร หาผู้นำคนใหม่ ปรับลดพนักงาน รีรันละคร 3 เวลาหลัก เช้า บ่าย เย็น ทุกวันจันทร์-ศุกร์ และล่าสุดคือ การถอดใจ คืนทีวีดิจิทัลไป 2 ช่อง คือ ช่อง3SD และช่อง 3 แฟมิลี่


จากทั้งหมดที่ขอคืนช่องไปกว่า 7 ช่อง เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 62 ที่ผ่านมา ตามที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า วันสุดท้ายของการยื่นความประสงค์คืนใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิทัลนี้ มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ยื่นเรื่องขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินจำนวน 7 ช่อง คือ

ไบรท์ทีวี 20, บมจ.อสมท คืนช่อง 14 MCOT family, บริษัท นิวส์เน็ตเวิร์ค คืนช่องสปริงส์นิวส์ 19, บริษัทวอยซ์ทีวี จำกัด คืนช่องวอยซ์ทีวี 21 บริษัท สปริงส์ 26 คืนช่อง สปริงส์ 26 (เดิมบริษัท บางกอกบิสซิเนสบรอดแคสติ้ง), บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) คืนช่อง 28 SD และช่อง 13 Family ส่งผลให้มีช่องทีวีดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจเหลือ 15 ช่อง

*** ช่องรองชูพันธมิตร-โฮมชอปปิ้งต่อลมหายใจ
มรสุมคลุกฝุ่นที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการแตกโมเดลธุรกิจทางเลือกแต่เป็นทางรอดให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่องที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะช่องรองนั้น การที่จะอยู่รอดย่อมต้องคิดให้แตกต่าง วางสื่อในมือให้เป็นเครื่องมือทำรายได้ ดึงนายทุนใหญ่เป็นแบ็กอัพ และปรับตัวที่เห็นชัด คือ 'ทีวีโฮมชอปปิ้ง' ที่แทรกซึมในหลายๆ ช่อง ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 8 ของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากอาร์เอสไม่ปรับตัวรูปแบบการดำเนินช่อง 8 วันนี้ก็จะมีสถานการณ์เดียวกับกลุ่มทีวีท็อปไฟว์ ที่ต้องต่อสู้และมุ่งเรื่องขึ้นเป็นผู้นำเพื่อหารายได้ แต่หลังการทรานส์ฟอร์มปรับมาให้ช่อง 8 พึ่งพาตัวเอง และหารายได้จากฐานผู้ชมที่มีกว่า 13 ล้านคน/วัน ที่ดูช่อง 8 หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1-3.4 แสนคน/นาที ซึ่งมีกว่า 1.1 แสนคนที่เทิร์นจากคนดูเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้า MPC แอ็กทีฟกว่า 70% การใช้จ่ายต่อครั้งไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ทำให้ MPC เป็นธุรกิจทำรายได้เติบโตสุดหลักและมีกำไรมากสุด โดยมีช่อง 8 เป็นสื่อในการทำรายได้

ตามมาด้วยช่องโมโน 29 ที่ทางบริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ได้นำสินค้ามาขายผ่านช่องโมโน 29 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยมีการขายสินค้า 2-4 นาที มียอดรายได้เข้ามากว่าแสนบาทและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้มีแผนที่จะเพิ่มไลน์สินค้า และขยายช่วงเวลาการขายให้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตคาดว่ารายได้จากโฮมชอปปิ้งสามารถขึ้นมาเป็นรายได้อันดับ 2 รองจากรายได้โฆษณา


จะเห็นได้ว่าทีวีโฮมชอปปิ้งเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์วิกฤตของทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี แม้บางช่องจะไม่ได้พึ่งพาแบบจริงจังหรือทำเอง แต่รายได้ที่ช่วยให้ช่องนั้นยังอยู่รอด คือ การซื้อเวลาของทีวีโฮมชอปปิ้งนั่นเอง โดยจะพบว่าแทบทุกช่องจะมีรายการขายสินค้าทดแทนเวลาที่เหลือว่างเยอะ และทดแทยรายได้โฆษณาที่หายไป

*** MAAT ชี้ชะตา สื่อทีวีปีนี้โต 0%
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งสำคัญของทีวีดิจิทัลหลังจากนี้คือ สื่อออนไลน์ เหตุคนดูทีวีลดลง ลูกค้าโยกเงินใช้สื่อออนไลน์แทน ส่งผลให้ปีนี้สื่อทีวีโต 0%

ทั้งนี้ นายรัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลค่าการใช้สื่อโฆษณารวมในปี 2561 อยู่ที่ 116,648 ล้านบาท โตขึ้น 5% โดยสื่อทีวียังเติบโต 5% หรือมีมูลค่า 66,000 ล้านบาท แต่ในปี 2562 นี้คาดการณ์ว่าภาพรวมการใช้สื่อโฆษณาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 116,761 ล้านบาท โดยที่สื่อทีวีกลับทรงตัวหรือโต 0% หรือทำได้เท่าปีก่อนที่ 66,000 ล้านบาท

*** ปลดล็อกนับ 1 พร้อมกัน
การคาดการณ์การซื้อโฆษณาในสื่อทีวีดิจิทัลที่ทรงตัวในปีนี้ บวกกับการคืนทีวีดิจิทัลไป 7 ช่องครั้งนี้ ส่งผลให้เหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอยู่เพียง 15 ช่อง ถึงจะนับเป็นจำนวนที่มากอยู่ แต่ถือเป็นผู้เล่นที่พร้อมแข่งขันอย่างจริงจัง

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นาทีนี้ต้องยอมรับว่าทุกช่องมีภาษีเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบไปกว่ากัน เพราะประสบการณ์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมานำพาให้ทุกช่องมาอยู่ในจุดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรตติ้ง หรือรายได้ หรือฐานผู้ชม


ดังนั้น นับจากครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไปการแข่งขันของทีวีดิจิทัลจะเข้มข้นมากขึ้น จากที่มองในเรื่องการเป็นแชมป์ จะมองในเรื่องรายได้และคอนเทนต์ที่คุ้มในการลงทุนแทน รวมถึงปรับตัวสู้คู่แข่งทางอ้อมที่มีผลต่อรายได้โฆษณาที่จะตามมา โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เราอาจจะได้เห็นการแข่งขันของทีวีดิจิทัลในโลกออนไลน์มากขึ้น แต่สื่อหลักอย่างทีวีดิจิทัลจะยังคงแข็งแกร่งเพื่อเป็นฐานสู่การต่อยอดรายได้อื่นๆ ตามมา


กำลังโหลดความคิดเห็น