xs
xsm
sm
md
lg

สถานีชาร์จรถอีวีทะลักเกินจำนวนรถ! “สนพ.” จ่อปิดโครงการหนุนจัดตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"สนพ." จ่อปิดโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีชาร์จอีวีจากกองทุนอนุรักษ์ฯ หลังเปิดให้รัฐและเอกชนยื่นมา 6 รอบตั้งแต่ ต.ค. 59-พ.ค. 62 ได้เพียง 80 หัวจ่ายจากที่ตั้งเป้า 150 หัวจ่าย รวมควักเงินกองทุนหนุนฯ 46 ล้านบาท เผยเอกชนมีศักยภาพลงทุนได้เอง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยรับสถานีชาร์จภาพรวมมีกว่า 500 แห่ง เกินจำนวนรถอื้อ หวั่นปริมาณรถไม่เพิ่มอาจทำให้สะดุด

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สนพ.ได้มอบหมายให้สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) สำหรับหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังานตั้งแต่ตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบันซึ่งเปิดรับสมัครมา 6 รอบแล้วนั้น เร็วๆ นี้จะทำการปิดโครงการทันทีเนื่องจากจำนวนสถานีเริ่มมีมากพอและเอกชนสามารถลงทุนได้เองโดยไม่ต้องมีรัฐสนับสนุนเพราะได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือพีดีพี 2018 (ปี 2561-80) ได้มีการคำนึงถึงการจัดหาไฟฟ้ารองรับรถยนต์อีวีไว้ตลอดแผนที่คาดว่าจะมี 1.2 ล้านคัน รวมถึงผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (ไอพีเอส) อย่างไรก็ตาม สนพ.พร้อมที่จะติดตามใกล้ชิด (มอนิเตอร์) ถึงจำนวนรถอีวีว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดในแต่ละปีเพื่อให้การจัดหาไฟฟ้ารองรับได้ทัน ซึ่งนโยบายของพีดีพีจะมีการทบทวนทุก 3-5 ปี

นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐและเอกชนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยใช้เงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ซึ่งการดำเนินงานเปิดให้ยื่นตั้งแต่ ต.ค. 59-พ.ค. 62 รวม 6 รอบมียื่นจัดตั้งสถานีชาร์จ 80-81 หัวจ่ายจากเป้าที่ตั้งไว้ 150 หัวจ่าย โดยขอรับงบสนับสนุน 47 ล้านบาทใช้ไป 46 ล้านบาท

"เงินจะให้การสนับสนุนเป็น 3 รอบ คือ 70% ของวงเงินลงทุน รอบ 2 จำนวน 50% และรอบ 3 จำนวน 30% โดยมีการทยอยเปิดรับเพื่อให้ครบเป้าหมายรอบ 6 รอบ ก็ยอมรับว่าส่วนของหน่วยงานรัฐเป็นไปตามเป้าแต่เอกชนช่วงหลังไม่มีการมาขอหรือน้อยลงเพราะเงินช่วงท้ายๆ ให้เงินแค่ 30% ซึ่งเอกชนมีแรงจูงใจจากการได้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนบีโอไอที่ดีกว่า ดังนั้นเร็วๆ นี้คงจะต้องปิดโครงการและเงินที่เหลือหลักล้านบาทคงต้องจ่าย" นายยศพงษ์กล่าว

ปัจจุบันหากมองภาพรวมของประเทศพบว่าสถานีชาร์จรถอีวีการลงทุนของเอกชนและรัฐเกินกว่า 500 หัวจ่ายแล้วหากเทียบกับปริมาณรถยนต์อีวีที่ยังมีหลักหมื่นถือว่าเกินไปมากซึ่งการลงทุนส่วนนี้เริ่มมีปัญหา ดังนั้นหากปริมาณรถยนต์อีวียังคงไม่ขยายตัวมากนักการเติบโตของสถานีชาร์จรถอีวีเองก็จะไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องกระตุ้นให้มีการใช้และผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้การลงทุนหัวจ่ายแบบชาร์จธรรมดาหรือ Normal Charge และแบบเร่งด่วนหรือ Quick Charger เริ่มมีต้นทุนต่ำลงเฉลี่ย 30% จากเดิมแบบชาร์จธรรมดาลงทุนประมาณ 1 แสนบาทต่อหัวจ่าย แบบเร่งด่วน 1 ล้านบาทต่อหัวจ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น