ร.ฟ.ท.ชง คนร.เคาะแผนฟื้นฟู พร้อมลุยตั้ง 2 บริษัทลูก “ทรัพย์สินและสายสีแดง” ยอมรับสีแดงจะเห็นกำไรหลังปีที่ 13 ต้องวางแผนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย คาดมีเก็บค่าธรรมเนียมช่วยลดขาดทุน ขณะที่ปลายปี 62 เปิดประมูลเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 พ.ค. คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.และการจัดตั้งบริษัทลูกด้านบริหารสินทรัพย์ และบริษัทลูกรถไฟสายสีแดง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เตรียมพร้อมข้อมูลและการชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งการจัดตั้งบริษัทลูกเดินรถไฟสายสีแดงจะเป็นการอัปเกรดบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (ผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) เพิ่มพันธกิจขอบเขตงาน กำหนด ซึ่งจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ 3,400 ล้านบาท ซึ่งหาก คนร.เห็นชอบจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และจัดตั้งบริษัทลูกต่อไป
สำหรับบริษัทลูกสายสีแดงนั้น ประเมินว่าจะมีกำไรในปีที่ 13-14 โดยคาดว่าจะต้องมีผู้โดยสารมากกว่า 8-9 หมื่นคน/วัน ขณะที่จะเปิดให้บริการในเดือน ม.ค. 2564 ตั้งเป้าผู้โดยสารไว้ที่ 8 หมื่นคน/วัน แต่ปีที่เปิดให้บริการคาดว่าจะยังมีผู้โดยสารไม่มากนัก ซึ่งบริษัทลูกสายสีแดงจะทำหน้าที่บริหารการเดินรถไฟสายสีแดง (Operator) และได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่ของสถานีรายทางของสายสีแดงเพื่อหารายได้เสริม ยกเว้นสถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีรังสิต
*** หาทางเพิ่มรายได้โปะรายจ่าย บริหารสถานีกลางบางซื่อ
นายวรวุฒิกล่าวว่า ในส่วนสถานีกลางบางซื่อ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างศึกษา โดยเปิดรับฟังความเห็นและความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) โครงการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ และจัดทำร่างเอกสารประกอบการจัดจ้างเอกชนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีรายได้ และส่วนของบริการที่เป็นค่าใช้จ่าย โดยประเมินว่าส่วนของรายได้จะต่ำกว่ารายจ่าย ดังนั้น จะศึกษากำหนดรูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน และหารายได้เพิ่ม โดยไม่ให้กระทบต่อ Level of Service
“สถานีรถไฟจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน และให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้เท่าเทียมกัน และเป็นบริการที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้มีรายได้ไม่มากนัก ไม่เหมือนสนามบินที่มีค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน ดังนั้น จะต้องหาแนวทางการบริหารจัดการลดรายจ่าย และต้นทุน และหากจำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมจะต้องกำหนดอัตราที่เหมาะสมและนำเสนอรัฐบาลเพื่อขออนุมัติต่อไป”
***รับฟังความเห็นนักลงทุน บริหารเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ
ด้าน นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือน ม.ค. 2564 พร้อมกับรถไฟสายสีแดง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้กำหนดรูปแบบการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้เบื้องต้นแล้ว โดยจะรับฟังความคิดเห็นและความสนใจของนักลงทุนและสรุปเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.ในเดือน มิ.ย. ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 2562 เพื่อให้ได้ตัวผู้รับจ้างในกลางปี 2563
เบื้องต้นกำหนดสัญญาระยะ 5 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่ในอาคาร 13,000 ตร.ม. รูปแบบให้เช่าพื้นที่ โดยเปิดประมูลภายใต้ระเบียบการรถไฟฯ เลือกผู้ให้ผลประโยชน์ตอบแทน ร.ฟ.ท.สูงสุด ประเมินจะมีรายได้จากค่าเช่าในระยะเวลา 5 ปี ประมาณ 100 ล้านบาท (ประเมินจากมูลค่าเช่าที่ 1,400 บาท/ตร.ม.) และสัญญาจ้างบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลาง เช่น งานรักษาความสะอาด รักษาความปลอดภัย ที่จอดรถ ประมูล พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 ส่วนนี้ประเมินค่าใช้จ่ายประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี โดยจะรับฟังความเห็นเอกชนเพื่อปรับให้มีความเป็นไปได้มากที่สุด
สำหรับการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้ทั้งในส่วนพื้นที่พาณิชยกรรมร้านค้า พื้นที่ป้ายโฆษณา และกิจกรรมบริหารสถานี ได้แก่ การรักษาความปลอดภัย การทำความสะอาด การบริหารอาคาร โดยเมื่อเปิดให้บริการ สถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางหลักของประเทศที่เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมโดยระบบต่างๆ (Multi-Modal Transportation) ได้แก่ รถไฟทางไกล (Inter-City Train) รถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter Train Red Line) รถไฟฟ้าความเร็วสูง (High-Speed Railway) รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link)
สำหรับขอบเขตของพื้นที่อาคารสถานีกลางบางซื่อเป็นอาคารสูง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่จอดรถประมาณ 1,613 คัน มีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถ (58,210 ตร.ม.) ทางเดินขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้น 1 (พื้นที่ประมาณ 122,810 ตารางเมตร) ประกอบด้วย โถงพักคอยของผู้โดยสาร และโถงชานชาลาผู้โดยสาร มีจุดเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของ MRT ในปัจจุบัน
และพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า ชั้นลอยที่ 1 (พื้นที่ประมาณ 9,800 ตารางเมตร) เป็นพื้นที่ส่วนพาณิชยกรรมร้านค้า ชั้น 2 รวมชั้นลอย 2 (พื้นที่ประมาณ 50,860 ตารางเมตร) ประกอบด้วย พื้นที่ต้อนรับบุคคลสำคัญ (VIP) ส่วนควบคุมระบบการเดินรถและพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่อาคาร ส่วนชานชาลารถไฟทางไกล (LD Platform Level) ชานชาลารถไฟชานเมือง (CT Platform Level) ชั้น 3 (พื้นที่ประมาณ 43,800 ตารางเมตร) ประกอบด้วย ชานชาลารถไฟมาตรฐานและรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ