GPSC ลงนามซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU จากไทยออยล์ วงเงิน 757 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ป้อนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของไทยออยล์ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566
วันนี้ (10 พ.ค. 2562) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อ-ขายหน่วยผลิตพลังงาน (Energy Recovery Unit : ERU) ระหว่างบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เอนเนอยี รีคอฟเวอรี่ ยูนิต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งหน่วย ERU เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ของไทยออยล์
นายศิริกล่าวว่า การพัฒนาโครงการดังกล่าวนับเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการของภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน โดยการนำกากน้ำมันซึ่งไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการกลั่นได้อีก มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพลังงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสร้างพลังร่วมอันยิ่งใหญ่ หรือ Synergy ในกลุ่ม ปตท. โดย ไทยออยล์ แกนนำด้านการกลั่นและปิโตรเคมีกลุ่ม ปตท. และ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อ-ขายหน่วยผลิตพลังงาน (ERU) ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสองบริษัทได้ดำเนินกิจกรรมตามธุรกิจหลัก (Core Business) และใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านการกลั่นและไฟฟ้าเพื่อความเป็นเลิศของกลุ่ม ปตท. ตลอดจนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐร่วมกัน
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจะลงทุนโครงการพลังงานสะอาด หรือ Clean Fuel Project โดยมีวงเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นปัจจุบันของไทยออยล์ จากกำลังการกลั่นที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยการสร้างหน่วยผลิตใหม่ต่างๆ หลายหน่วย เช่น หน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 4, หน่วยแตกตัวน้ำมันหนักให้เป็นน้ำมันเบาโดยใช้ Hydrogen หรือ RHCU และหน่วย Energy Recovery Unit หรือ ERU ซึ่งทำหน้าที่หลักในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของโครงการ CFP
การที่ GPSC เข้าลงทุนในหน่วย ERU จะทำให้ไทยออยล์ลดภาระการลงทุนในโครงการ CFP ลงประมาณ 15% ทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่ง และเพิ่มสภาพคล่องเพื่อรองรับการลงทุนอื่นๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ไทยออยล์ยังสามารถร่วมกับ GPSC บริหารจัดการและควบคุมดูแลคุณภาพในการดำเนินโครงการ CFP และหน่วย ERU ในด้านความปลอดภัย ความมั่นคงในการผลิต และดำเนินการเกี่ยวกับ Plant Optimization ของโรงกลั่นได้เช่นเดิมอีกด้วย
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงนามสัญญาซื้อขายหน่วยผลิตพลังงาน ERU กับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในการเข้าซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 757 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24,113 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถรับโอนกรรมสิทธิ์หน่วย ERU ได้ในปี 2566
GPSC ยังมองโอกาสการเติบโตต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า 3-4 โครงการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานน้ำ รวมถึงมองโอกาสการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ private PPA ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยมีขนาดไม่ต่ำกว่า 0.5 เมกะวัตต์/โครงการ ซึ่งเมื่อแผนธุรกิจมีความชัดเจนแล้วก็จะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมเข้าประมูลงานก่อสร้าง (EPC) งานโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่คาดจะเปิดประมูลภายในเดือนพ.ค. เนื่องจากบริษัทมีนวัตกรรมทุ่นลอยน้ำ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ที่ปัจจุบันได้ทดลองทำโครงการต้นแบบโซลาร์ลอยน้ำ ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร โดยเริ่มดำเนินการมาแล้วในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้
ส่วนแนวโน้มผลดำเนินการในไตรมาส2นี้ จะมีกำไรดีกว่าไตรมาสแรกปีนี้ เนื่องจากจะรับรู้ผลการดำเนินงานของบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) สัดส่วน 69.11%เข้ามาเต็มไตรมาส ดังนั้นในปี 62 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย