รฟม.เจรจา BSR ต่อขยาย “ชมพู-เหลือง” แบ่งผลประโยชน์รัฐเพิ่ม ยันค่าโดยสารไม่เพิ่ม ใช้โครงสร้างสูตรเดียวกับ น้ำเงิน, ม่วง จ่ายสูงสุดที่ 12 สถานี ตั้งเป้าตอกเข็มปลายปี 62
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การเจรจาโครงการส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) กับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งอยู่ภายใต้กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ การเจรจาจบไปหลายประเด็นแล้ว คงเหลือประเด็นผลประโยชน์ที่รัฐจะได้เพิ่มมากขึ้นจากส่วนต่อขยาย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพื่อเสนอขออนุมัติตามขั้นตอน PPP และลงนามในสัญญาแนบท้ายเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าให้เริ่มก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีชมพู และสายสีเหลือง ปลายปี 2562 เพื่อเปิดให้บริการพร้อมกับเส้นทางหลัก
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 ฉบับใหม่) มีผลเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2562 ซึ่งทำให้คณะกรรมการมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 (ฉบับเดิม) จะทำหน้าที่ต่อไปได้ 90 วัน หลัง พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ประกาศ ดังนั้น ต้นเดือน มิ.ย.2562 จะมีการตั้งคณะกรรมการมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 62 เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อ โดยรักษาผลประโยชน์ภาครัฐมากที่สุด
ในการเจรจาเพิ่มผลประกอบตอบแทนให้รัฐในส่วนต่อขยายซึ่งประเมินจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าลงทุนก่อสร้าง ค่าเวนคืน รวมถึงทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) จากสถานีบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินของสายสีเหลือง ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รวมถึงการก่อสร้างที่จอดรถแบบ Smart Parking ให้กับ สน.พหลโยธินด้วย เนื่องจากจะมีการเจรจาขอใช้พื้นที่จอดรถของตำรวจ ในการก่อสร้าง Skywalk โดย รฟม.จะเป็นผู้จัดทำขั้นตอนการเวนคืนที่เกี่ยวกับระเบียบและกฎหมาย
สำหรับอัตราค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายจะไม่เพิ่มขึ้น โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองจะใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสาร และสูตรการคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) เหมือนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ซึ่งในปัจจุบันมีอัตราเริ่มต้น 14 บาท สูงสุด 42 บาท (หรือสูงสุดที่ 12 สถานี) ดังนั้น หากโดยสารสถานีที่ 13 เป็นต้นไปจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท แต่ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารของสายสีชมพูและสีเหลืองจะใช้ดัชนีผู้บริโภคในปีที่เปิดมาคำนวณอีกครั้ง
โดยสายสีเหลืองส่วนต่อขยายช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. กรอบวงเงินลงทุน 3,779 ล้านบาท มีเชื่อมต่อกับสายสีเหลือง บริเวณสถานีรัชดา โดยแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก มีสถานีอยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานีบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน
ส่วนสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. กรอบวงเงินลงทุน 3,379 ล้านบาท เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช สายสีชมพู วิ่งเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี