สผ.ไฟเขียว EIA รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ รฟม.คาด2-3 ด. หลังครม.รับทราบ ออกพ.ร.ฎ.เวนคืน สำรวจพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางและขอใช้พื้นที่ตามแนว ถ.สามเสน ตั้งเป้าเปิดประมูลก่อสร้างปลายปี 62 ส่วน PPP สายสีส้มตะวันตก”ศูนย์วัฒนฯ –บางขุนนนท์ 1.3 แสนล. จ่อครม. ลุ้นกดปุ่มประมูลปีนี้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้มีมติรับทราบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท หลังจากนี้จะเตรียมจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตรวจร่าง และออก พ.ร.ฎ.เวนคืน เพื่อให้ รฟม.เข้าพื้นที่สำรวจและเวนคืน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งประเมินค่าเวนคืนประมาณ 1.5 หมื่นล้าน
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้าง สายสีม่วงใต้ ได้ในช่วงปลายปี 2562 หรือไม่เกินต้นปี 2563 ซึ่งการประมูลก่อสร้างจะดำเนินการคู่ขนานกับการขออนุญาตในการใช้พื้นที่ ซึ่งตามแนวถนนสามเสน เช่น บริเวณตลาดศรีย่าน ชุมชนสวนอ้อย โครงสร้างเป็นใต้ดินแต่จะมีการใช้พื้นที่เพื่อเป็นสถานี ซึ่งจะเป็นพื้นที่ติดถนนเป็นแนวยาว ประมาณ 200 เมตร
โดย พื้นที่เวนคืนส่วนใหญ่ เป็นจุดขึ้น-ลง 17 สถานี และที่จอดรถไฟฟ้า (เดโป้) 50 ไร่ ที่บริเวณด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก จะใช้พื้นที่สร้าง
นอกจากนี้ จะมีการขอใช้พื้นที่ของกรมสรรพาวุธทหารบกประมาณ 4-5 ไร่ เพื่อก่อสร้างเส้นทาง ช่วงที่มีการลดระดับจากทางวิ่งยกระดับเป็นทางวิ่งใต้ดิน จากถนนทหาร ไปยังถนนสามเสน ซึ่งได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว โดยบริเวณดังกล่าว ทางกรมสรรพาวุธ ใช้เป็นพื้นที่เก็บอุปกรณ์ ทางทหารและรถถังต่างๆ ดังนั้น รฟม.จะมีการก่อสร้างโรงจัดเก็บให้ใหม่ ที่มีระบบดูแลด้านความปลอดภัยด้วย ซึ่งทางทหารจะเป็นผู้จัดหาพื้นที่ให้ คาดใช้ค่าก่อสร้างกว่าพันล้านบาท
“ก่อนเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธา จะต้องทำราคากลางใหม่ ตามระเบียบจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างใหม่ โดยตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี เนื่องจากมีทางวิ่งใต้ดินค่อนข้างยาวและยังมีอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์ จึงจะเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับ ช่วง ดาวคะนอง ไปตามถนนสุขสวัสดิ์”
ส่วนการเดินรถสายสีม่วงใต้นั้น มีค่าลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ให้ศึกษาเพิ่มเติม รูปแบบการให้เอกชนร่วมทุน (PPP) PPP Net Cost ซึ่งเป็นแนวทางที่จะลดความเสี่ยงของภาครัฐ เพื่อเปรียบเทียบกับ รูปแบบ PPP Gross Cost ที่ได้ศึกษาไว้แล้วก่อนหน้านี้ โดยจะสรุปในเดือนมิ.ย. และนำเสนอบอร์ด รฟม.ต่อไป
***ปีนี้ ได้กดปุ่มPPP สายสีส้มตะวันตก”ศูนย์วัฒนฯ –บางขุนนนท์" 1.3 แสนบ.
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ –บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. เงินลงทุนค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่าระบบและรถไฟฟ้ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) เห็นชอบแล้ว อยู่ในขั้นตอน นำเสนอครม.พิจารณา หากได้รับอนุมัติ จะมีการจั้งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 เพื่อดำเนินการพิจารณาร่าง TORคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งภายในปี 2562 จะเปิดประมูล PPP ได้ ซึ่งผู้ได้รับคัดเลือก PPP จะต้องติดตั้งระบบและเดินรถสายสีส้มตลอดสาย
โดย สายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย– มีนบุรี ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 2 พ.ค. 2559 มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนก.พ. 2566 สายสีส้ม ด้าน ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ –บางขุนนนท์ เปิดให้บริการปี 2569