xs
xsm
sm
md
lg

ทช.จับมือกรมโยธาฯ จัดรูปที่ดิน ผุดถนนผังเมืองลดค่าเวนคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทช.ผนึกกรมโยธาฯ จัดรูปที่ดินแก้ปัญหาเวนคืนในการก่อสร้างถนนผังเมือง ทช.คาดประหยัดงบเวนคืนปีละกว่า 2.2 พันล้านนำไปพัฒนาโครงข่ายถนนเพิ่ม เริ่มนำร่องผังเมืองพิษณุโลก

วันนี้ (1 พ.ค.) นายกฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการบูรณาการข้อมูลการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานมีความสอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ

นายกฤชเทพ สิมลี อธิบดี ทช. กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมทางหลวงชนบทจะมีการบูรณาการร่วมกัน ทั้งในด้านการบริหารจัดการทางวิชาการ การปฏิบัติงาน รวมถึงสนับสนุนด้านการประสานงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ เพื่อรองรับและสนับสนุนภารกิจหลักของทั้งสองฝ่ายให้มีความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย โดย ทช.จะนำข้อมูลด้านแผนที่ ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับถนนของกรมโยธาฯ มาใช้ในการดำเนินการออกแบบสำรวจและก่อสร้างถนนของ ทช. ซึ่งจะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น และดำเนินโครงการได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ


นอกจากนี้ จะร่วมมือกับกรมโยธาฯ นำการจัดรูปที่ดินมาใช้ในการก่อสร้างถนนผังเมืองของ ทช. ซึ่งทำให้ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน โดยใช้วิธีการแบ่งที่ดินมาพัฒนาถนนและจัดรูปที่ดินให้ใหม่ ช่วยให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และประชาชนไม่ต้องออกจากพื้นที่ โดยแต่ละปี ทช.มีงบเวนคืนกว่า 2.2 พันล้านบาท จะประหยัดส่วนนี้ และนำงบไปใช้ในการก่อสร้างถนนผังเมืองเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะนำร่องในการก่อสร้างถนนผังเมืองพิษณุโลก

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาฯ มี พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเป็นเครื่องมือ ซึ่งข้อดีคือ การก่อสร้างถนนไม่ต้องเวนคืนที่ดินจากเจ้าของ โดยใช้วิธีจัดรูปผังที่ดินให้เหมาะสมและแบ่งที่ดินมาใช้ในการก่อสร้าง ส่วนที่เหลือจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีตัวอย่างโครงการที่ จ.จันทบุรี ที่ราคา
หลังจัดรูปที่ดินเพิ่มจากเดิมถึง 10 เท่า ดังนั้น กรมโยธาฯ จึงได้นำเสนอแนวคิดในการจัดรูปที่ดินในโครงการก่อสร้างถนน รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่สามารถจัดรูปที่ดินรอบๆ สถานีให้เกิดมูลค่าและไม่ต้องเวนคืนให้ประชาชนต้องออกจากพื้นที่แต่อย่างใด


นอกจากนี้ กรมโยธาฯ อยู่ระหว่างทำข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) (แผนที่ 1:4,000) ไปแล้ว 52 จังหวัด ซึ่งจะเสร็จครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2563 และจะมีการอัปเดตตลอด ซึ่งทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นฐานข้อมูลเดียวกันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น