ร.ฟ.ท.เตรียมทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่หลังเจอพิษค่าโง่ “โฮปเวลล์” ทำภาระหนี้เพิ่มอีกเป็นหมื่นล้าน ขณะที่แผนฟื้นฟูเดิม ยังติดหล่มรายได้ไม่เข้าเป้าจากปัญหาหลายโครงการล่าช้า คาดปี 62 ยอดหนี้สะสมทะลุ 1.41 แสนล้าน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ร.ฟ.ท.ต้องคืนเงินชดเชยให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยบอร์ด ร.ฟ.ท.มีมติตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำงานร่วมกับทีมอัยการสูงสุด และทีมกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ พิจารณาหาแนวทางที่ดีที่สุดที่รัฐจะเสียหายน้อยที่สุด
โดยเฉพาะตัวเลขค่าชดเชยที่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากมีรายละเอียดมาก ร.ฟ.ท.ต้องนำคำพากษามาพิจารณาอย่างละเอียดว่ารวมค่าชดเชยจากจุดไหนบ้าง มูลค่าเท่าไหร่ เบื้องต้นเห็นแล้วว่ามีตัวเลข 1.2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย
นายกุลิศยอมรับว่า การที่ร.ฟ.ท.มีภาระหนี้เพิ่มจากค่าชดเชยข้อพิพาทโครงการโฮปเวลล์จะส่งผลกระทบต่อแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.ที่ได้นำเสนอไปแล้ว ดังนั้น เมื่อประมวลมูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นแล้วว่าเป็นเท่าไหร่ ถึงจะทราบว่าจะกระทบต่อตัวเลขในแผนฟื้นฟูที่ทำไว้แค่ไหน เพื่อมีการทบทวนตัวเลขต่างๆ ในแผนฟื้นฟูใหม่ ซึ่งกลางเดือน พ.ค.จะมีความชัดเจน
ทบทวนแผนฟื้นฟู โครงการล่าช้า รายได้ยังไม่เข้าเป้า
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ต้องทบทวนแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.ใหม่แน่นอน เพราะนอกจากกรณีค่าชดเชยโฮปเวลล์ ทำให้ตัวเลขหนี้เพิ่มขึ้น แล้ว ขณะนี้การดำเนินงานต่างๆ ของ ร.ฟ.ท.ยังไม่เป็นไปตามแผนฟื้นฟู เนื่องจากรายได้ที่คาดการณ์ไว้ยังไม่เข้าเป้า ต้องทบทวนแผนในบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพและสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะแรก 5 เส้นทาง มีปัญหาอุปสรรค และอาจทำให้เปิดเดินรถได้ล่าช้ากว่าแผน, โครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ยังไม่เต็มรูปแบบ, การพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ของ ร.ฟ.ท.ยังอยู่ในกระบวนการประมูล
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีหนี้สะสม 141,986 ล้านบาท หาก ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในปี 2566 หนี้สะสมจะเพิ่มเป็น 199,279 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 คาดมีรายได้ 9,760 ล้านบาท รายจ่าย 17,199 ล้านบาท ขาดทุน 7,439 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 21,845 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟู ในช่วง 10 ปี ( 2561-2570) ตั้งเป้าว่า ในปี 2566 จะหยุดการขาดทุน หรือ EBITDA เป็นศูนย์ และมีกำไรในปี 2570 ประมาณ 3,573 ล้านบาท จากรายได้ค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น 4 เท่า จากการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 5 เท่า และรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 5 เท่า ขณะที่ภายใต้แผนจะต้องมีการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง 993 กม. รถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง 1,483 กม. รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง 681 กม. และรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง 1,500 กม. เป็นต้น