ร.ฟ.ท.เจรจาซีพีลงตัว มั่นใจเซ็นสัญญาไฮสปีด 3 สนามบินใน 15 มิ.ย. 2562 หลังปิดเงื่อนไขปลีกย่อยได้หมดทุกประเด็น หลังคณะกรรมการคัดเลือกประชุมยาวกว่า 14 ชม. “วรวุฒิ” ยืนยันไม่มีข้อเสนอนอก TOR และเงื่อนไข RFP นัดซีพีตรวจสัญญารายละเอียดอีกครั้งวันนี้ (26 เม.ย.) เพื่อเสนออัยการตรวจร่างสัญญา
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. คณะกรรมการคัดเลือกรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท ได้หารือในประเด็นร่างสัญญาที่เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เป็นข้อปลีกย่อย 60-70 ข้อ เหลือที่ยังเข้าใจไม่ตรงกันประมาณ 10 กว่าข้อ ในที่สุดการการเจรจาได้ข้อยุติร่วมกันหมดแล้ว สามารถปิดประเด็นได้ครบหมด เช่น ค่าปรับ กรณี ร.ฟ.ท.เป็นฝ่ายผิดสัญญา เช่น กรณี ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า ตามหลักจะให้เป็นการขยายเวลาเท่านั้น ซึ่งเป็นปกติกรณีที่ ร.ฟ.ท.เป็นฝ่ายผิด ทางซีพีขอเป็นเงินค่าปรับด้วยซึ่งใช้เวลาเจรจากันนานจนได้ข้อยุติว่าจะยึดตามระเบียบ กรณี ร.ฟ.ท.เป็นฝ่ายผิดจะชดเชยเรื่องขยายเวลาเท่านั้น ไม่มีการชดเชยเป็นตัวเงินกรณีที่เอกชนกู้เงินจากธนาคาร แล้วจะกำหนดสัดส่วนที่ธนาคารจะสามารถเข้ามาเทกโอเวอร์โครงการได้นั้น ในหลักปฏิบัติทำไม่ได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในวันนี้ (26 เม.ย.) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้นัดกลุ่มซีพีมาเจรจาอีกครั้งในเวลา 09.00 น. เพื่อสรุปรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหมดรอบสุดท้าย โดยจะดูทีละข้อทั้ง 60-70 ข้อ เพื่อให้ตรงกันทั้งหลักการและข้อความที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อเขียนไว้ในสัญญา โดยเป็นไปตาม TOR และอยู่ในรอบข้อเสนอโครงการ (RFP) และรายงานบอร์ด ร.ฟ.ท.รับทราบคู่ขนาน
จากนั้นจะจัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยสำนักงานอัยการสูงสุดจะแจ้งผลการตรวจพิจารณาโดยเร็วภายในวันที่ 10 พ.ค. เพื่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนให้ กพอ.พิจารณาภายในวันที่ 15 พ.ค. 62 และคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ในวันที่ 28 พ.ค. ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มซีพีและพันธมิตร (CPH) ได้ภายใน 15 มิ.ย. 2562
นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้หารือถึงกรณีที่จะต้องตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.อีอีซี ที่ได้กำหนดโครงสร้างองค์กรการบริหารโครงการ ซึ่งตาม พ.ร.บ.อีอีซี กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการซึ่งจะมีผู้แทนของซีพีเข้าร่วมด้วย และภายใต้คณะกรรมการกำกับโครงการจะมีคณะกรรมการบริหารโครงการ โดยมีหน้าที่ในการทำงานดูแลโครงการอย่างใกล้ชิด และมีองค์ประกอบการ 5 ฝ่าย โดยกำหนดอัตราประมาณ 30 คน โดยเป็นการคัดสรร จาก ร.ฟ.ท.และจากอีอีซีเข้าไป
ขณะที่ ร.ฟ.ท.กังวลว่าหากโอนย้ายคน ร.ฟ.ท.ไปแล้วจะกระทบต่ออัตรากำลังของ ร.ฟ.ท.ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนอยู่แล้ว จึงหารือกันว่าต้องการให้อีอีซีพิจารณากรณีต้องการคนของ ร.ฟ.ท.ไปไปยังคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ควรเป็นการย้ายออกจาก ร.ฟ.ท.เด็ดขาด และให้ ร.ฟ.ท.จัดหาอัตรากำลังมาทดแทนได้