xs
xsm
sm
md
lg

“สอน.” ผนึก 3 องค์กรนำร่องยกระดับไร่อ้อยสู่ Smart Farming

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สอน.ผนึกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ นำร่อง MOU ยกระดับการนำนวัตกรรมจัดการทำไร่อ้อยทั้งระบบหวังก้าวสู่ Smart Farming

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังเป็นประธานพิธีลงนามของ 4 องค์กร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ ว่าการลงนามครั้งนี้เพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการในไร่อ้อย การพัฒนาทางด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ การพัฒนาด้านพันธุ์อ้อยและพัฒนาบุคลากรโดยจะร่วมดำเนินการช่วง 5 ปีเพื่อปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นบริการจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming)

ตามบันทึกข้อตกลง 4 หน่วยงานจะร่วมงาน คือ สอน.จะสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยมุ่งสู่ Smart Farming มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จะสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการ KTIS จะสนับสนุนด้านสถานที่ ข้อมูล การนำไปทดสอบใช้และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์จะสนับสนุนด้านข้อมูลและร่วมกันประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ สอน. กล่าวว่า สอน.เริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่บริหารจัดการไร่อ้อยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 โดยส่งเสริมการเพาะปลูกจนถึงการจัดการไร่หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตผ่านเว็บแอปพลิเคชัน https://thaismartfarming.com และได้ดำเนินการต่อเนื่องปีงบประมาณ 2562 โดยขยายผลการดำเนินงานไปยังกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ไม่น้อยกว่า 30 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1,000 ไร่ และภายในปีนี้คาดว่าจะมีการทยอยลงนามร่วมกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่อื่นๆ ตามมาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด

นอกจากนี้ สอน.ได้เสนอกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้าเพื่อเห็นชอบโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรระยะที่ 2 วงเงินสินเชื่อปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวม 6,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย เครื่องสางใบอ้อย เครื่องอัดใบอ้อยเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในไร่อ้อย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตอ้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น