xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานจ่อดึง ปตท.-กฟผ.ดูดซับ CPO เพิ่ม 1 แสนตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศิริ” เจรจาพาณิชย์-เกษตรฯ ดูดซับ CPO เพิ่มอีก 1 แสนตันโดยเก็บสต๊อกครั้งเดียวหวังกระตุ้นราคาผลปาล์มขยับขึ้น คาดได้ข้อสรุป 2-3 วันเพื่อกำหนดแนวทางให้ ปตท.รับซื้อนำมาผลิตบี 100 เพื่อส่งออกหรือ กฟผ.รับซื้อมาผลิตไฟฟ้า ยัน 16 พ.ค.นี้ทยอยปรับขึ้นราคาขาย NGV แก่รถสาธารณะ 3 บาท/กก. และหนุนขายดีเซล บี 10 ผ่านปั๊มน้ำมันต้น พ.ค.นี้ ในราคาต่ำกว่าดีเซล บี 7 ลิตรละ 1 บาท



นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.ได้ดำเนินการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ครบ 1.6 แสนตันเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้ว โดยได้ดำเนินการรับมอบ CPO เที่ยวสุดท้าย 6.6 หมื่นตัน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2562 ณ คลังน้ำมันปาล์มดิบ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผลทำให้ราคาผลปาล์มปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.40-2.50 บาท/กก.จากสัปดาห์ก่อนหน้าต่ำกว่า 2 บาท/กก. ส่วน CPO จากคลังสุราษฎ์ธานีคาดว่าจะจัดส่งเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงได้หมดภายใน มิ.ย.นี้ ทำให้ กฟผ.เพิ่มการใช้ CPO ผลิตไฟฟ้าจากเดิมวันละ1 พันตันเป็น 1.5 พันตัน

ส่วนแนวทางการรับซื้อ CPO เพิ่มเติมอีก 1 แสนตันตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาแนวทางรับซื้อเก็บสต๊อกเพียงครั้งเดียวเพื่อกระตุ้นราคาผลปาล์มให้สูงขึ้น ส่วนการนำ CPO ดังกล่าวมาให้ กฟผ.มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าหรือให้ ปตท.นำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล (บี 100) เพื่อส่งออก ยังไม่มีข้อสรุป คาดว่าภายใน 2-3 วันนี้จะมีความชัดเจน

นายศิริกล่าวว่า จากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมาให้มีการขายน้ำมันดีเซล บี 10 โดยมีส่วนลดราคาต่ำกว่าดีเซล บี 7 อยู่ลิตรละ 1 บาท เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่ผู้ใช้รถที่สามารถใช้น้ำมันดีเซลบี 10 ได้ คือกลุ่มรถกระบะค่ายญี่ปุ่น และเชฟโรเลตค่ายสหรัฐฯ และยังช่วยดูดซับ CPO เพิ่มขึ้นอีกปีละ 5 แสนตัน โดยให้สถานีบริการน้ำมันตัดสินใจเลือกที่จำหน่ายดีเซล บี 7 หรือดีเซล บี 10 คาดว่าจะเปิดให้มีการจำหน่ายดีเซล บี 10 ได้ในต้นเดือน พ.ค.นี้

ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถสาธารณะ เช่น รถเท็กซี่ รถตู้ รถร่วมฯ และรถ บขส.เพิ่มขึ้นลิตรละ 3 บาทจากปัจจุบันจำหน่ายอยู่ 10.62 บาท เริ่มตั้งแต่ 16 พ.ค.นี้ เพื่อลดภาระการอุดหนุนราคา NGV ของ ปตท.ที่ต้องแบกรับภาระปีละหลายพันล้านบาท โดย ปตท.ยังคงชดเชยราคาให้กับกลุ่มรถสาธารณะต่อไปอีก 3 บาท/กก.

ทั้งนี้ จากเดิมที่ กบง. มีมติเมื่อปี 2561 กำหนดให้ลอยตัวราคาเอ็นจีวีเป็นไปตามกลไกราคาตลาด โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่ 16 พ.ค. 2562 จะส่งผลราคาเอ็นจีวีปรับขึ้นเป็นลิตรละ 16.83 บาทต่อ กก. หรือเพิ่มขึ้นถึง 6.21 บาทต่อ กก. แต่เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงให้ ปตท.ขยับขึ้นเพียง 3 บาทต่อ กก. โดยครั้งแรก (16 พ.ค. 2562) ให้ขยับขึ้นเพียง 1 บาทต่อ กก. จากนั้นอีก 4 เดือน (16 ก.ย. 2562) ขยับขึ้นอีก 1 บาทต่อ กก. และอีก 4 เดือน (16 ม.ค. 2563) ขยับขึ้นอีก 1 บาทต่อ กก.

ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วม ขสมก.ที่เริ่มปรับขึ้นราคาในวันที่ 22 เม.ย. 2562 ได้มีการคำนวณการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีล่วงหน้าอยู่แล้ว กก.ละ 3 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น