xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.ขีดเส้น เม.ย.เจรจากัลฟ์-พีทีทีแทงค์ ลงนาม เม.ย.ลุยท่าเรือฯ มาบตาพุดเฟส 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กนอ.เผยท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) “บริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์” คุณสมบัติเบื้องต้นและข้อเสนอทางเทคนิคผ่านฉลุย ครบถ้วนตามเงื่อนไขทีโออาร์ คณะกรรมการฯ เดินหน้าเจรจาผลตอบแทนของรัฐบนหลักการที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดคาดกระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จ เม.ย.นี้ พร้อมส่งเรื่องอัยการตรวจร่างสัญญาร่วมลงทุน คาดลงนามได้เดือน มิ.ย.นี้

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาข้อเสนอการประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ของบริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ((บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด) ซึ่งยื่นประมูลเพียงรายเดียวว่า ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) Net Cost อยู่ระหว่างการเจรจาเจรจาข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและผลตอบแทน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ภาครัฐจะได้รับจากการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าบริหารจัดการท่าเรือในระยะ 30 ปีคาดว่าจะสรุปเพื่อประกาศรายชื่อผู้ชนะเพื่อรับรองผลอย่างเป็นทางการภายใน เม.ย.นี้ จากนั้นคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ภายในมิถุนายน

“เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 กลุ่มกิจการค้าร่วมกัลฟ์และพีทีที แทงค์ ได้ยื่นซองข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิคและเอกสารรายละเอียดด้านราคา ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯและต่อมาได้ตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติเป็นไปตามร่างเงื่อนไขสัญญาหรือ TOR แล้วและอยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขการลงทุนและผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ คาดว่าจะสรุปได้ไม่เกิน เม.ย.นี้ จากนั้นคณะกรรมการฯจะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อตรวจร่างเงื่อนไขสัญญาของโครงการดังกล่าว คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2562 นี้” ดร.สมจิณณ์กล่าว

สำหรับแผนการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ช่วง รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท ประกอบด้วยช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยภาคเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจาก คณะกรรมการฯในครั้งนี้จะสามารถเข้าพัฒนาได้ภายหลังจากที่ทำการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งการร่วมลงทุนในครั้งนี้ภาคเอกชนจะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท อาทิ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ(Superstructure)กนอ.จะดำเนินการออก ทีโออาร์เพื่อประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายใน ปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น