xs
xsm
sm
md
lg

“ไวไว”ปรับกลยุทธ์รับโลกเปลี่ยน ชู3กลุ่มใหม่ดันยอดหมื่นล.อีก10ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360 - กระแสดิจิทัลเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค พบแบรนด์ลอยัลตี้ต่ำ และความนิยมในรสชาติสั้นลง “ไวไว” เคลื่อนทัพขยายธุรกิจโมเดลใหม่ “ปั้นร้านอาหาร-แตกไลน์สินค้าออร์แกนิค-สินค้าเกษตร” หวังดันยอดขายทะลุ 10,000 ล้านบาท อีก 5-10 ปี

นายปรีชา นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปภายใต้เครื่องหมายการค้า “ไวไว ควิกแสบ และซือดะ” เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มธุรกิจอาหารเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


.


รวมถึงประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภายในปี 2568 และเทคโนโลยี่เข้ามามีบทบาทในโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่เป็นทางเลือกใหม่ๆมากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ลอยัลตี้ที่มีต่อสินค้าที่ออกวางตลาดแต่ละตัวลดน้อยลง ทำให้บริษัทต้องนำจุดแข็งของธุรกิจเดิมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ 3 กลุ่ม



ธุรกิจกลุ่มแรกได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร “ควิกเทอเรส” สาขาแรกทดลองเปิดข้างหน้าโรงงานไวไว ที่อ้อมใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อน และจะขยายสาขาที่ 2 เดือนพฤษภาคมนี้ ที่จังหวัดชลบุรี และปีนี้จะเปิดอีก 3-5 สาขา ทั้งที่บริษัทลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์ ตั้งเป้า 3-5 ปี จะเปิดร้าน “ควิกเทอเรส” จำนวน 100 สาขาทั่วประเทศ และต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น

ธุรกิจที่ 2 การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยร่วมมือกับบริษัทที่มีชื่อเสียงในการผลิตผลิตผลทางการเกษตร พัฒนาแปรรูปเป็นผงปรุงรส และเครื่องเทศที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัย ขายในประเทศและต่างประเทศได้





ส่วนธุรกิจกลุ่มที่ 3 มุ่งพัฒนาอาหารอนาคต รองรับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ต้องการอาหารกินได้สะดวก รวดเร็ว และดีกับสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มนี้บริษัทมอบหมายให้ นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ดูแลธุรกิจในกลุ่มนี้

แนวทางพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพ บริษัทได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สนับสนุนทุนวิจัยให้กับอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์อาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาสินค้าให้เป็นอาหารที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ วิจัยและพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ ตอบสนองผู้บริโภคที่แพ้สารอาหารบางกลุ่ม





อาหารในกลุ่มที่ 3 นี้จะเป็นผลิตภัณฑ์เส้นบะหมี่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ “กลูเตน” อาหารพร้อมทานที่ไม่ใส่สารกันบูด พัฒนาสินค้าให้ได้รับสัญลักษณ์ “Free Form” (มาตรฐานที่บ่งบอกถึงสินค้าที่ปราศจากสารปรุงแต่งต่าง ๆ )
“บริษัทได้เจรจาร่วมมือกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพ กระบวนการผลิตโดยใช้นวัตกรรมขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยและนักวิจัยในเครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหารอีกไม่น้อยกว่า 16 แห่ง เพื่อนำงานวิจัยที่มีศักยภาพมาต่อยอดสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มทางเลือกสุขภาพ (Healthy Choice) “



นายปรีชา กล่าวว่า บริษัทพัฒนาอาหารเกษตรอินทรีย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในรูปแบบของอาหารพร้อมทานและเครื่องปรุงรส จากข้อมูลของสถาบันอาหารกล่าวว่า 50% ของผู้บริโภคให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่ามาจากธรรมชาติ และผู้บริโภคมากถึง 30% ยอมจ่ายเงินให้แก่อาหารเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแนวโน้มการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นทุกปี 10% ทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา จีน และญี่ปุ่น

“บริษัทคาดว่าธุรกิจใหม่ 3 กลุ่ม จะผลักดันยอดขายทั้งกลุ่มได้ 10,000 ล้านบาทใน 5-10 ปี และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกจาก 15% เป็น 30%” นายปรีชา กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น