xs
xsm
sm
md
lg

“คณิศ” ปลื้มอีอีซีเนื้อหอมกลางปีนี้ทุนจีนทะลักแน่หลัง 5 โปรเจกต์ชัดลั่นการเมืองไม่กระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“คณิศ” ปลื้มความร่วมมือเอกชนจีนและญี่ปุ่นโฟกัสอีอีซีเลือกไทยเป็นประเทศที่ 3 ในการลงทุนเป็นประเทศแรก มั่นใจครึ่งปีหลังไทยชัดเจน 5 บิ๊กโปรเจกต์ในอีอีซีชัดเจนจะทำให้การลงทุนจากจีนไหลเข้ามากขึ้น สกพอ.เล็งตั้งหน่วยงานดูแลความร่วมมือการลงทุนจีน-ญี่ปุ่นใกล้ชิด ลั่น เม.ย.รู้ชื่อผู้ชนะ 5 โครงการครบ



วันนี้ (2 เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ และคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (CCPIT) จัดงานสัมมนา Japan - China Workshop on Business Cooperation in Thailand เพื่อให้ข้อมูลและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจร่วมกันในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีของไทย ที่ถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างของความร่วมมือการลงทุนของภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นในการลงทุนในประเทศที่ 3 โดยมีนักธุรกิจของทั้ง 3 ประเทศเข้าร่วมงานเกือบ 300 คน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ซึ่งได้เลือกโฟกัสพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทยเป็นที่แรก ว่า หลังจากที่ไทยพัฒนาพื้นที่อีอีซีนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนค่อนข้างมากเพราะลงทุนในไทยมาค่อนข้างนาน ขณะที่การลงทุนจากจีนยังมาไม่เต็มรูปแบบ คาดว่าครึ่งปีหลังเมื่อไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ ในอีอีซีให้ชัดเจนคาดว่านักลงทุนจากจีนน่าจะขยับตัวเข้ามาลงทุนมากขึ้น ดังนั้น สกพอ.จะตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการเข้ามาลงทุนที่เป็นความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและจีนเป็นการเฉพาะขึ้นเพื่อสานต่อการดูแลให้ต่อเนื่อง

“โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ที่มีมูลค่ารวม 650,000 ล้านบาท ทุกโครงการมีนักลงทุนของทั้งสองประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว รวมถึงการเข้ามาให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินจากทั้งสองประเทศ ซึ่งเราอยากเห็นญี่ปุ่นและจีนจับมือกันมา บางคนถามว่าไม่กลัวจีนจะเข้ามาเป็นนอมินีหรือ เราเองไม่กลัวเพราะเห็นว่าความร่วมมือนี้กลับเป็นการทำงานร่วมกัน หรือ Synergy แบบใหม่เรื่องแบบนี้ก็น่าจะน้อยลงไป ใครจะเข้ามาร่วมมือในอีอีซีเราเปิดกว้างรับหมดแต่ที่เห็นว่าจีนและญี่ปุ่นเยอะเพราะอยู่ใกล้และมีเงินมากกว่า” นายคณิศกล่าว

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสอบถามมาถึงกรณีไทยมีการเลือกตั้งจะมีอะไรกระทบต่ออีอีซีหรือไม่นั้น ทาง สกพอ.เองได้ยืนยันไป 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. เท่าที่ดูอีอีซีมีกฎหมายเป็นของตนเองและมีสกพอ.ที่เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ในอนาคตไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะมาเป็นประธานบอร์ดใหญ่อีอีซี โดยตำแหน่งอยู่แล้ว ความต่อเนื่องก็จะมี 2. อีอีซีเป็นการนำไทยขับเคลื่อนให้ไปข้างหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักๆไม่ได้ทำหรือพัฒนาเพื่อคนแค่ 3 จังหวัด(ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี) เท่านั้นแต่จะเกิดประโยชน์ต่อคนในประเทศโดยรวมด้วย ดังนั้น แรงต่อต้านโครงการทั้งหมดจึงไม่มีแน่นอน

“รัฐบาลเองยังยืนยันที่จะเห็นความชัดเจน 5 โครงการหลักที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) ศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่จะได้สรุปรายชื่อผู้ชนะประมูลครบหมดทุกโครงการในสิ้นเดือน เม.ย.นี้และจะนำเสนอรายงานความคืบหน้าการประชุมบอร์ดอีอีซีที่เรากำลังประสานท่านนายกฯ ในการประชุมในเดือนนี้เพื่อรับทราบ” นายคณิศกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น