xs
xsm
sm
md
lg

ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ส้มหล่น กกพ.จีบผุดโรงไฟฟ้าตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กกพ.ส่งอนุกรรมการฯ เจรจาผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เพื่อก่อสร้าง 2 โรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันตก กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ภายใต้เงื่อนไขใช้ระบบสาธารณูปโภคฯ เดิมในพื้นที่ และอัตราค่าไฟฟ้าถูกลง คาดชัดเจน 1-2 เดือนนี้

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มอบหมายโดยตรงให้ กกพ.เข้าไปเจรจาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันตก จำนวน 2 โรง โรงละ 700 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ภายใต้ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) โดยโรงแรกจะเป็นการก่อสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยีขนาด 700 เมกะวัตต์ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาเดือน ก.ค. 2563 และอีกโรงเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก 700 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าและป้อนให้กับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้

ล่าสุด กกพ.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ที่มี นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการ กกพ.เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่เจรจากับราชบุรีฯ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้

“มติ กบง.ให้ กกพ.เข้าไปเจรจากับรายเดิมที่ดำเนินการโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์ยีให้ดำเนินการต่อบนเงื่อนไขการเจรจาที่ 700 เมกะวัตต์โดยไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ เพื่อเร่งรัดโครงการให้ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์โดยเร็ว ส่วนอีกโรงที่ต้องสร้างใหม่ 700 เมกะวัตต์จะดำเนินการเจรจาไปพร้อมกันหรือไม่เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรดำเนินการไปพร้อมกันเพื่อเกิด economy of scale”

สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไรก็จะต้องนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของ กบง. โดยหากให้ผู้ประกอบการรายเดิมดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพร้อมกันทั้ง 2 โรงรวม 1,400 เมกะวัตต์ และมีอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ระดับนี้ กบง.มีความคิดเห็นอย่างไร ถ้ายังไม่เป็นที่น่าพอใจก็อาจจะต้องกลับไปดำเนินการบนเงื่อนไขเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิม 1 โรง และที่เหลืออีก 1 โรงให้เปิดประมูล

เงื่อนไขสำคัญในการเจรจานั้น จะต้องใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว และตั้งอยู่บนพื้นที่เดิม คือ จ.ราชบุรี เพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้เสร็จทันตามแผนพีดีพีที่กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COC) ในปี 2567-2568 ได้ทัน และต้องไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ที่ตลอดแผนพีดีพีฉบับใหม่ กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าตลอด 20 ปี หรือสิ้นสุดปลายแผนปี 2580 อยู่ที่ 3.576 บาทต่อหน่วย


กำลังโหลดความคิดเห็น