xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ทดสอบใช้ดีเซล บี 10 ในรถปิกอัพ ดึงค่ายรถยนต์-กรมธุรกิจพลังงานร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปตท.ดึงสถาบันนวัตกรรม ค่ายรถยนต์และกรมธุรกิจพลังงานเข้าร่วมทดสอบน้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ในสัปดาห์หน้า คาดใช้เวลาทดสอบ 1-2 เดือน หากไม่มีผลต่อเครื่องยนต์ก็จะเสนอรัฐกำหนดนโยบายจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล บี 10 หวังช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มแก้ปัญหาปาล์มล้น



นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการเปิดงานครบรอบ 20 ปีสถาบันนวัตกรรม วันนี้ (28 มี.ค.) ว่า ปตท.มอบหมายให้สถาบันนวัตกรรมดำเนินการศึกษาและทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 กับรถกระบะของ ปตท.ว่าสามารถใช้ได้จริงโดยไม่กระทบต่อเครื่องยนต์ เพื่อหวังกระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะดึงกับค่ายรถยนต์ กรมธุรกิจพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์เข้ามาร่วมการวิจัยและทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ดังกล่าวเป็นเวลา 1-2 เดือน คาดว่าจะเริ่มทดสอบในสัปดาห์หน้าโดยนำรถกระบะในกลุ่ม ปตท.เติมน้ำมันดีเซล บี 10

ก่อนหน้านี้ ทาง ปตท.เคยมีการทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 กับรถปิกอัพระยะการวิ่ง 1แสนกิโลเมตรพบว่าไม่มีปัญหาเครื่องยนต์ ซึ่งผลผลิตปาล์มจะออกมาในฤดูร้อน หากมีการใช้ไบโอดีเซล บี 10 ในรถยนต์คาดว่าจะไม่น่ามีปัญหา แต่ทั้งนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ค่ายรถยนต์และภาครัฐ หากผลทดสอบพบว่าไม่มีปัญหากับเครื่องยนต์รถกระบะก็จะเสนอภาครัฐกำหนดนโยบายให้จำหน่ายไบโอดีเซล บี 8-บี 10ได้ โดยอาจจำหน่ายเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากน้ำมันปาล์มจะไม่เป็นไข และไม่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำมัน อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มของไทยออกสู่ตลาดจำนวนมากด้วย

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ปัจจุบัน ปตท.มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาปีละ 1% ของกำไรสุทธิ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า โดย ปตท.ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยนวัตกรรมใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive technologies) โดยจะมุ่งเน้นไปเรื่อง พลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ พลังงานลม แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน พืชพลังงาน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นไปที่ไบโอเทคโนโลยี เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา รวมทั้งนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการใช้วัตถุดิบอย่างชาญฉลาด เช่น การคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เบากว่าเหล็กแต่แข็งแรง และผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันแบคทีเรียได้ เป็นต้น

สำหรับการวิจัยนวัตกรรมของ ปตท.ที่มีโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ เช่น การวิจัยระบบกับเก็บพลังงงาน หรือ ESS ที่สถาบันนวัตกรรมร่วมกับสถาบันวิทยาสิริเมธี หรือ Vistec วิจัยและพัฒนา โดยสร้างแบตเตอรี่ที่แตกต่างจากตลาด โดยมีจุดเด่น คือ มีทั้งระบบอินเวอร์เตอร์ INVERTER และระบบควบคุมอัตโนมัติ BMS ปัจจุบันแบตเตอรี่ดังกล่าวมีขนาด 10 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และอยู่ระหว่างการเตรียมนำไปทดลองติดตั้งจริงเพื่อใช้งานในกลุ่ม ปตท. คาดว่าสิ้นปี 2562 จะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีเป็นบริษัทในเครือ ปตท.จะหาเป็นผู้วางแผนด้านการตลาดให้
รวมทั้ง ปตท.เตรียมวิจัยปุ๋ยสั่งตัด เพื่อทำสูตรปุ๋ยให้ตรงเฉพาะพื้นที่ โดยจะความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ โดยเบื้องต้นได้จัดทำโมเดลร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ แล้วแล้วให้ชุมชนหรือสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการ ขณะนี้ต้องรอให้กระทรวงเกษตรคัดเลือกพื้นที่นำร่องโครงการอยู่

นายชาญศิลป์กล่าวว่า บริษัท พีทีทีแทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกจะเข้าร่วมยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในวันที่ 29 มี.ค. 2562 นี้อย่างแน่นอน โดยจะจับมือกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ 2-3 ราย ทางพีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จะถือหุ้น 25-30% คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น