xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงเร่งปรับรูปแบบถนนวงแหวนรอบ 3 ลดผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอานนท์  เหลืองบริบูรณ์  อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)
กรมทางหลวงยันถนนวงแหวนรอบที่ 3 ด้านตะวันตกและตะวันออกจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อแก้จราจร เผยเปิดเวทีชี้แจง และรับฟังความเห็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว พร้อมรับข้อร้องเรียน เร่งปรับรูปแบบลดผลกระทบให้มีน้อยที่สุด

จากกรณีที่มีข่าวว่าประชาชนร้องเรียนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก และมีตัวแทนภาคประชาชนจากจังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา จำนวนมากเดินทางไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สตง. ขอให้ตรวจสอบแผนโครงการ
1. โครงการมีทางขึ้น-ลงอยู่ใจกลางหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ถนนบรมราชชนนี หมู่ที่ 1 ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แต่ไม่เคยเปิดประชาพิจารณ์ และให้ข้อมูลแก่ประชาชนไม่ชัดเจน
2. เส้นทางที่มอเตอร์เวย์ผ่านเป็นแหล่งชุมชนจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล โรงงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
3. ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปทบทวนรูปแบบการก่อสร้างใหม่ และขอให้กรมทางหลวงหามาตรการป้องกันแก้ไข และรองรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
4. ขอให้ สตง.ตรวจสอบการใช้งบประมาณว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ และหากโครงการนี้ไม่ยกเลิก หรือหาทางแก้ไขไม่ได้ ประชาชนก็จะรวมตัวกันคัดค้านแบบนี้ตลอดไป นั้น

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ชี้แจงว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก มีระยะทาง 98 กม. เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (ระยะทาง 254 กม.) ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 โดยกรมทางหลวงได้เคยทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการแล้วเมื่อปี 2552 ปัจจุบัน เนื่องจากเมืองมีความเจริญเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 เริ่มมีปัญหาการจราจรติดขัด

กรมทางหลวงจึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการมอเตอร์เวย์ สายวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตกใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยมีการศึกษาทบทวนแนวเส้นทางและรูปแบบการก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมฯ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า โครงการฯ มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีค่า EIRR ประมาณ 15.8%

ที่ผ่านมากรมฯ ได้ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามวิธีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งได้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 มาใช้ประกอบการพิจารณา และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง (จากทั้งหมด 5 ครั้ง)


ครั้งที่ 1 เป็นการปฐมนิเทศโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 336 คน ครั้งที่ 2 เป็นการประชุมหารือแนวเส้นทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,054 คน ครั้งที่ 3 เป็นการประชุมสรุปผลการศึกษาแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 892 คน และครั้งที่ 4 เป็นการประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบของโครงการ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2562 เนื่องจากการออกแบบเบื้องต้นมีแนวเส้นทางที่มีความชัดเจนแล้ว จึงมีการเชิญเจ้าของที่ดินแปลงที่อยู่ในแนวเวนคืนเบื้องต้นเข้าร่วมประชุมโดยตรงด้วย และแต่ละครั้งจะเชิญกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน กลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ กลุ่มพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟัง และให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการ

***รับข้อร้องเรียนปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบ

นายอานนท์กล่าวว่า กรณีประชาชนหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ยื่นร้องเรียน กรณีจุดทางแยกต่างระดับที่เป็นทางเข้าออกโครงการฯ นั้น กรมฯ รับทราบปัญหาแล้ว เบื้องต้นมีผู้ได้รับผลกระทบ 50 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบ และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในวันที่ 19 เมษายน 2562 ซึ่งยืนยันว่าการกำหนดรูปแบบนั้นที่ปรึกษาได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบ ทางแยกต่างระดับ 3 รูปแบบ โดยมีการให้คะแนนทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้คัดเลือกรูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุด

“จุดทางเข้าออกโครงการบริเวณหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 เป็นส่วนสำคัญที่จะเชื่อมกับถนนพระราม 2 เป็นจุดที่มีความจำเป็น ไม่สามารถยกเลิกได้ แต่จะปรับรูปแบบให้กระทบน้อยที่สุด ซึ่งวงแหวนรอบ 3 ด้านตะวันตกนี้ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาสำรวจออกแบบอีก ส่วนการก่อสร้างจะต้องขึ้นกับนโยบายรัฐบาลด้วย ซึ่งหลังจากออกแบบแล้ว กรมฯ จะมีการศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมต่อไป”

***ยันไม่เวนคืน โรงเรียน โรงพยาบาล

ในส่วนการร้องเรียนกรณีแนวเส้นทางผ่านแหล่งชุมชม การคัดเลือกแนวเส้นทาง ขณะนี้ไม่ผ่านโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ส่วนโรงพยาบาลศาลายานั้น แนวเส้นทางจะอยู่ในระยะประชิดบริเวณที่จอดรถ ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งที่ปรึกษาได้เข้าชี้แจงทำความเข้าใจกับ รพ.ศาลายาแล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยืนยันแนวทางการพัฒนาโครงการจะลดผลกระทบอย่างสูงสุดเพื่อให้แนวเส้นทางมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง แต่เนื่องจากแนวเส้นทางมีความยาว 98 กม. บางตำแหน่งจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งในระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และระยะดำเนินการแล้ว

สำหรับโครงข่ายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 นั้น ประกอบด้วย ด้านตะวันออก ช่วงทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ทางหลวงหมายเลข 305 (ถนนรังสิต-นครนายก) ทางหลวงหมายเลข 34 หรือถนนบางนา-ตราด ระยะทาง 96 กม. เป็นโครงข่ายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาจราจรด้านเหนือกรุงเทพฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจากถนนรังสิต-นครนายก-ถนนบางนา-ตราด ระยะทาง 52 กม. จะออกแบบเสร็จปลายปี 2562

ด้านตะวันตก อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม มีระยะทางประมาณ 98 กม.
ระยะทาง 98 กม. เริ่มต้นที่ถนนพระรามที่ 2 เชื่อมกับมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรี ถึงถนนสายเอเชีย บริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา มีความคุ้มค่าในการลงทุน (EIRR 15.8%) โดยจากการศึกษาพบว่าช่วงต่อเชื่อมจากถนนพระราม 2-มอเตอร์เวย์บางใหญ่ มีปริมาณจราจรมาก อาจจะพิจารณาก่อสร้างก่อน

ด้านใต้ ระยะทางประมาณ 60 กม. เนื่องจากแนวเส้นทางใกล้เคียงแนวเส้นทางถนนเชื่อมสมุทรปราการ-สมุทรสาคร ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จึงชะลอโครงการไปก่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น