xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทย-ปตท.ถอย! ไม่ร่วมประมูล “เมืองการบินอู่ตะเภา” ชี้เม็ดเงินจำกัด มุ่งจัดหาฝูงบินก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การบินไทยถอย เจรจา ปตท. ตกลงไม่ร่วมประมูลบริหาร “สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน” โปรเจกต์ EEC มูลค่า 2.9 แสนล้าน 21 มี.ค. “สุเมธ” เผยเม็ดเงินสูง งานไม่ถนัด ชี้แผนจัดหาฝูงบิน 38 ลำสำคัญกว่า ขณะที่ MRO รอแอร์บัสยื่นซอง 22 มี.ค.ตั้ง บ.ร่วมทุนใน 1 ปี

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากที่บริษัทฯ ได้เข้าร่วมซื้อซองโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า2.9 แสนล้านบาท ซึ่งมีเอกชนเข้าซื้อซองซองถึง 42 บริษัทนั้น ในส่วนของการบินไทยนั้นจากที่ได้หารือกับพันธมิตร เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แล้ว ล่าสุดพิจารณาแล้วว่าจะไม่ยื่นซองประมูลในวันที่ 21 มีนาคมนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯ เห็นว่าในระยะใกล้จะมีการลงทุนจัดหาฝูงบินใหม่ จำนวน 38 ลำ วงเงินลงทุน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งได้เสนอไปที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) แล้ว ดังนั้นจะพิจารณาในการลงทุนที่เหมาะสม หากมีเงินทุนก้อนหนึ่งการจัดหาเครื่องบินเพื่อนำมาเสริมทัพการให้บริการ กับการลงทุนธุรกิจสนามบินเมืองการบินอู่ตะเภา ตอนนี้เรื่องการจัดหาเครื่องบินมีความสำคัญมากกว่า

สำหรับการพัฒนาบริหารสนามบินนั้นเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ต้องมีพันธมิตรร่วมทุนด้วยกัน วันนี้หากบริษัทฯ จะไปลงทุนคนเดียวโดยไม่มีเพื่อนอาจจะยังไม่เหมาะ ซึ่งทั้งการบินไทยและ ปตท.ได้ข้อยุติว่าไม่ยื่นประมูลด้วยกันทั้งคู่

นายสุเมธกล่าวว่า ในอนาคตการบิไนไทยอาจจะเข้าไปร่วมในธุรกิจสนามบินอู่ตะเภาภายหลังได้ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น บริการภาคพื้น คาร์โก้ ครัวการบิน ซึ่งเป็นงานที่มีความถนัดภายหลัง ซึ่งไม่เกี่ยวกับบริหารจัดการสนามบิน

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนเป็น PPP net cost ระยะเวลา 50 ปี เหมือนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แยกเป็นก่อสร้าง 3 ปี และบริหารซ่อมบำรุง 47 ปี แบ่งสัดส่วนการลงทุน รัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 ประมาณ 10,000 ล้านบาท และหอบังคับการบินแห่งที่ 2 ประมาณ 5,000 ล้านบาท

ส่วนเอกชนลงทุน 5 โครงการ คือ 1. อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคนต่อปี 2. ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน สร้างลานจอดรถและมีสถานีรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยผู้ชนะต้องประสานงานกับผู้ชนะรถไฟความร็วสูง 3. ศูนย์ธุรกิจการค้า 4. เขตประกอบการค้าเสรี และ 5. ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ส่วนการกำหนดพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ทั้งนี้ เอกชนจะยื่นข้อเสนอ 3 ซอง มีคุณสมบัติ เทคนิค-แผนธุรกิจ และข้อเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ

โดยมีเอกชนไทยและต่างชาติซื้อซองประมูล จำนวน 42 ราย แยกเป็นบริษัทไทย ได้แก่ บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.การบินไทย, บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้, บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น, บจ.คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บจ.จี.วาย.ที. เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซี.พี.), บมจ.ช.การช่าง, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น, บจ.ไทยแอร์เอเชีย, บจ.ธนโฮลดิ้ง, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้งส์, บจ.แปซิฟิก ภูเก็ต, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง, บจ.พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์, บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง, บมจ.ยูนีค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์, บจ.เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจ.Orient Success International

จีนมี 6 บริษัท ได้แก่ บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่นส์ คอนสตรัคชั่น, บจ.China GeZhouBa Group, บจ.ไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.ไชน่า เรียลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ บจ.ไชน่า รีสอร์ซ (โฮลดิ้ง) คอมปะนี

ฝรั่งเศส 2 บริษัท บจ.เอดีพี อินเตอร์เนชั่นแนล, บจ.วินชี แอร์พอร์ท เยอรมนี 2 บริษัท มี บจ.AviAlliance Gmbh กับ บจ.Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide อินเดีย 1 บริษัท คือ บจ.GMR Group Airport ประเทศญี่ปุ่น 5 บริษัท ได้แก่ บจ.AGP Corporation, บจ.JALUX Inc, Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN), บจ.มิตซุย และ Sojitz Corporation มาเลเซีย 1 บริษัท คือ Malaysia Airports Holding Berhad และตุรกี 1 บริษัท คือ TAV TEPE AKFEN INVESTMENT AND CONSTRUCTION AND OPERATION

ตั้งเป้าบริษัทร่วมทุน แอร์บัส ปั้น MRO เป็นธุรกิจใหญ่ในอนาคต


ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือ MRO ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่ง การบินไทย จะลงทุนร่วมกับบริษัท แอร์บัส นั้น ทางแอร์บัสจะต้องยื่นข้อเสนอในวันที่ 22 มี.ค.นี้ กับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณา เปิดยื่นข้อเสนอแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทยได้เซ็น MOU กับแอร์บัสไปแล้วจะร่วมลงทุนประมาณวงเงิน 4,000 ล้านบาท รอเพียงให้แอร์บัสมายื่นข้อเสนอก่อนตามขั้นตอน ถ้าหากแอร์บัสมายืนแสดงว่ายอมรับเงื่อนไขในทีโออาร์ได้ จะเดินหน้าความร่วมมือกันต่อไปในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกป็นปี เพราะใช้เงินร่วมลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท ขณะที่กองทัพเรือจะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ MRO อีกส่วนหนึ่งด้วยจึงจะเปิดให้ดำเนินการได้ ซึ่ง MRO จะเป็นธุรกิจใหญ่ของการบินไทยในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น