xs
xsm
sm
md
lg

เมล์ NGV ผิดสเปก! เปิดปม ขสมก.เสี่ยงทุจริต ฉีก TOR รับรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขสมก.เสี่ยงรับรถเมล์ NGV ผิดสเปก เปิดปม TOR กำหนดที่นั่ง 35 รวมผู้โดยสารยืนไม่น้อยกว่า 60 คือคุณลักษณะสำคัญ ย้ำจดทะเบียนนั่ง 35 ยืน 11 คำนวณตามน้ำหนักที่รับได้ เรียกร้อง ขบ.ชี้แจง กม.มีอนุโลมได้จริงหรือ

จากกรณีมีการระบุว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รับรถรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ที่จดทะเบียนผิดสเปก ไม่เป็นไปตาม TOR ที่กำหนดให้มีที่นั่ง 35 รวมผู้โดยสารยืนไม่น้อยกว่า 60 แต่จดทะเบียนที่นั่ง 35 ยืน 11 ขณะที่นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก.ยืนยันว่าถูกต้อง โดยมีการทดสอบการบรรทุกจริง ผู้โดยสารยืนเกิน 60 คน วิ่งขึ้นสะพานพระราม 9 ได้ไม่มีปัญหา การจดทะเบียนดังกล่าวอนุโลมใช้ตามมาตรฐาน 2 (ข)
เนื่องจากรถ Low Floor เป็นของใหม่จึงยังไม่มีกำหนดจดทะเบียนมาตรฐานเรื่องที่นั่ง-ที่ยืน

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีดังกล่าวกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงผู้ประกอบการรถโดยสาร โดยเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงที่เป็นการรับรถที่ทำผิดTOR โดยประเด็นใหญ่คือ TOR กำหนดให้มีที่นั่ง 35 ที่นั่ง รวมผู้โดยสารยืนต้องไม่น้อยกว่า 60 คน แต่ที่ตรวจสภาพจดทะเบียนขนส่งอนุมัติให้นั่ง 35 ยืน 11 ถือว่าผิดเงื่อนไข TOR ชัดเจนตรวจรับรถไม่ได้

ทั้งนี้ วิธีการคำนวณการรับน้ำหนักของกรมขนส่งทางบก คือ เอาสเปกของแชสซีส์เป็นตัวตั้ง แชสซีส์จะระบุน้ำหนักสูงสุดที่จะรองรับได้ เวลาตรวจสภาพรถจะชั่งน้ำหนักรถเปล่าทั้งคัน เอาไปลบออกจากน้ำหนักสูงสุดที่รองรับได้ นำน้ำหนักที่เหลือหารด้วย 55 (ขนส่งกำหนดน้ำหนักผู้โดยสารคนละ 55 กก.) ผลลัพธ์คือจำนวนผู้โดยสารที่จะบรรทุกได้

ยกตัวอย่างเช่น แชสซีส์รองรับน้ำหนักได้ 15,500 กก. ชั่งน้ำหนักรถเปล่าได้ 12,970 กก. เหลือน้ำหนักสำหรับรองรับผู้โดยสาร จะต้องนำ 15,500-12,970=2,530 กก. หารด้วย 55 จะได้จำนวนผู้โดยสาร 46 คน (2,530÷55 = 46)

น้ำหนักที่ได้จากการตรวจสภาพรถเปล่า ลบออกจากน้ำหนักที่กรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบจะต้องเหลืออย่างน้อย 3,300 กก. ตามระเบียบคิดน้ำหนักผู้โดยสารคนละ 55 กก. 3,300÷55 = 60 จะได้จำนวนผู้โดยสาร 60 คนถูกต้องตาม TOR แต่การณีรถ BONLUCK น้ำหนักเหลือประมาณ 2,530 กก. หารด้วย 55 เหลือจำนวนผู้โดยสาร 46 คน (2,530÷55 = 46)

กรณีนี้เป็นความผิดของผู้ผลิตผู้ขายที่ไม่สามารถออกแบบรถให้ถูกต้องตาม TOR และระเบียบขนส่ง ความผิดร้ายแรงที่สุดอยู่ที่ผู้ซื้อซึ่งเป็นภาครัฐ รับรถโดยฉีก TOR และระเบียบทุกอย่างทิ้งหมด น่าจะเป็นบรรทัดฐานในการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการขนส่งทั้งหมด ต่อไปนี้ไม่ว่าจะรถโดยสาร รถบรรทุก ใครใคร่จะบรรทุกเท่าไหร่ทำได้ตามใจชอบ ไม่ต้องไปสนใจตัวเลขที่ขนส่งพ่นข้างรถ

โดยข้อพิรุธเรื่องดังกล่าว ได้แก่ 1. TOR กำหนดให้มีที่นั่ง 35 รวมผู้โดยสารยืนไม่น้อยกว่า 60 คือการกำหนดคุณลักษณะของรถที่ผู้เข้าประมูลจะต้องทำตามที่กำหนดให้ได้

2. การบรรทุกผู้โดยสาร 80 คนวิ่งขึ้นสะพานพระราม9 อยู่ในหัวข้อการทดสอบเพื่อตรวจรับรถ

3. การตรวจสภาพเพื่อจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกยึดเอาสมรรถนะของแชสซีส์เป็นตัวตั้ง เอาน้ำหนักสูงสุดที่แชสซีส์สามารถรองรับได้ลบน้ำหนักของรถสำเร็จรูป (ไม่มีผู้โดยสาร) น้ำหนักที่ได้หารด้วย 55 (ระเบียบกำหนดน้ำหนักผู้โดยสารคนละ 55กก.) จะได้จำนวนผู้โดยสารที่อนุมัติและทำการพ่นติดข้างรถ

4. กรณีนี้ น้ำหนักที่เหลือคงประมาณ 2,530 กก. หารด้วย 55 จึงได้ 46 คน

5. รถที่ถูกต้องตาม TOR ต้องออกแบบและผลิตให้น้ำหนักเหลือเพื่อบรรทุกอย่างน้อย 3,300 กก. ถึงจะบรรทุกผู้โดยสารได้ 60 คน

6. รถที่ส่งมอบทั้งหมดจึงไม่ถูกต้องตาม TOR ส่วนการที่ ขสมก.ชี้แจงว่า เป็นการ “อนุโลม” ทำไม่ได้ รถที่ถูกต้องตาม TOR ขนส่งพ่นข้างนั่ง 35 คน ยืน 25 คน เวลาบรรทุกผู้โดยสารเกิน 60 คนตามสภาพการใช้งานจริงในเวลาเร่งด่วน นั่นถึงจะใช้คำว่า “อนุโลม” ได้

7. เป็นการตัดสินใจ “อนุโลม” และยินยอมตรวจรับรถที่บรรทุกผู้โดยสารได้น้อยกว่าที่กำหนดไว้ใน TOR โดย ขสมก.เอง

8. รถได้ผ่านการตรวจสภาพจากกรมการขนส่งทางบกถูกต้องตามระเบียบทุกประการ คุณลักษณะถูกต้องตามมาตรฐาน 2 ข. เพียงแต่น้ำหนักบรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 46 คน จะยืนทั้งหมด หรือนั่งตักกันก็ไม่มีปัญหา และกรมการขนส่งทางบกไม่ได้ “อนุโลม” ตามที่ ขสมก.กล่าวอ้าง

9. กรณีรถชานต่ำ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกเคยตรวจสภาพรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ปี เช่น รถของมหาวิทยาลัยมหิดล ใช้แชสซีส์เบนซ์ จำนวน 4 คัน

10. ในกรณีที่ไม่ใช่เวลาเร่งด่วนแต่ถ้าบรรทุกผู้โดยสารเกิน 46 คน เจ้าหน้าที่ขนส่งไม่ตรวจจับ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

11. อธิบดีกรมการขนส่งฯ ควรออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวทั้งหมด มีการอนุโลมให้ทำผิดกฎหมายได้จริงหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น