บ้านปู เพาเวอร์จ่อรุกธุรกิจใหม่ Energy Trading ในญี่ปุ่น คาดว่าเริ่มในครึ่งหลังปี 62 ช่วยเพิ่มพอร์ตผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหาโอกาสการลงทุนในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และไทยเพิ่มเติม
นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมทำธุรกิจการซื้อขายไฟฟ้า energy trading ในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะดำเนินการได้ในครึ่งหลังปี 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่น ซึ่งการรุกธุรกิจใหม่นี้จะช่วยให้บริษัทขยายพอร์ตกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น จากเดิมที่การขยายการลงทุนต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เข้าระบบก่อน ซึ่งปัจจุบันราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นต่ำมากเหลือเพียง 18 เยนต่อหน่วยจากเดิมเคยสูงกว่านี้เท่าตัว จึงไม่เอื้อต่อการลงทุน
"ธุรกิจใหม่ที่บริษัทศึกษาเรื่องของ Energy Trading การขายไฟ Bidding เข้าไปในระบบ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามจะเปิดให้มีการขายไฟเสรีเพื่อให้ตลาดมีการแข่งขันค่าไฟให้ถูกลง เราศึกษาเรื่องนี้มาเกือบ 2 ปี ถ้าเราได้ไลเซนส์ครบ มีคุณสมบัติครบที่จะเข้าไปซื้อขายไฟฟ้าในระบบ คาดว่าครึ่งหลังปีนี้น่าจะเริ่มเทรดได้บ้าง"
ประเทศญี่ปุ่นมีการซื้อขายไฟฟ้าทั้งการขายเข้าระบบส่ง หรือ Grid และการขายผ่าน Trading ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ซื้อขายแบบ Trading นับ 100 บริษัท เมื่อบริษัทเริ่มเข้าสู่ธุรกิจการเทรดก็จะมีข้อมูลตลาดมากขึ้น ซึ่งบริษัทได้ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อรองรับการดำเนินงาน และมองโอกาสที่จะขยายต่อไปได้ในอนาคต
ปัจจบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น 13 โครงการ กำลังผลิตรวม 234 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด โดยมีไฟฟ้าที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 38 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งจะเดินเครื่องในปีนี้อีก 5 โครงการ รวม 62 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนในประเทศที่บริษัทมีฐานการผลิตอยู่แล้ว อย่างในลาวที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าหงสา โดยพิจารณาการเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็ก กำลังผลิต 40-50 เมกะวัตต์ รวมทั้งอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย และไต้หวัน โดยในอินโดนีเซียมี บมจ.บ้านปู (BANPU) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ทำธุรกิจเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว ก็ทำให้มีโอกาสต่อยอดธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ รวมทั้งพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากอินโดนีเซียมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ส่วนฟิลิปปินส์มีศักยภาพทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ออสเตรเลียและไต้หวันก็สนใจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
นายสุธีกล่าวต่อไปว่า ส่วนประเทศไทย นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่รัฐบาลมีโอกาสจะเปิดรับซื้อเพิ่มเติมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ที่บริษัทให้ความสนใจอยู่แล้วนั้น ยังมองการเข้าลงทุนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมแข่งขัน