ทอท.ยันศึกษารอบคอบ ประมูลสัญญาเดียว ดิวตี้ฟรี 4 สนามบินและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ลั่นโปร่งใสไม่ผูกขาด “ประสงค์” ชี้ไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 62 แม้เป็นกิจการสนามบินแต่ร้านค้าไม่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ย้ำเดินหน้าประมูลตามเดิม ยอมรับการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์อ่อน สั่ง “นิตินัย” แถลงข่าว 18 มี.ค.
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวถึงกรณีมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับการประมูลคัดเลือกเอกชนให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทอท.ว่า ได้สั่งการให้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.แถลงข่าวชี้แจงในวันที่ 18 มี.ค. นี้ เพื่อทำความเข้าใจ ถึงรูปแบบที่ ทอท.ดำเนินการ ซึ่งปัญหาความไม่เข้าใจอาจจะเกิดจากการอ่อนการชี้แจงประชาสัมพันธ์ในการให้ข้อมูล
ยืนยันว่าที่ผ่านมา ทอท.ได้นำข้อคิดเห็น และประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาและให้ที่ปรึกษาศึกษาอย่างรอบคอบแล้วก่อนที่จะดำเนินการเปิดประมูลให้สิทธิประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยาน 4 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ รวมถึงการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ
สำหรับรูปแบบ และทีโออาร์ที่ ทอท.ประกาศนั้นได้ดำเนินการอย่างโปร่งใสแล้ว ดังนั้น การประมูลยังคงเดินหน้าตามปกติ ไม่มีการยกเลิก
นายประสงค์กล่าวถึงประเด็นว่าต้องเข้า พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือไม่ว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 62 เป็นฉบับใหม่ที่ปรับปรุง ในเรื่องที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เก่าอาจจะยังไม่ชัดเจน เพื่อให้การเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐมีความสะดวก ซึ่งในเรื่องดิวตี้ฟรี และเชิงพาณิชย์ของ ทอท.นั้นไม่เข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 62 เนื่องจากไม่ได้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน 11 อย่าง และไม่เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสนามบิน เพราะไม่มีร้านค้า ร้านขายของ สนามบินยังสามารถให้บริการ เครื่องบินยังบินขึ้นลงได้
ส่วนกรณีที่ระบุว่า สัญญาดิวตี้ฟรี 1 ราย ได้สิทธิ์บริหาร 4 สนามบินเป็นการผูกขาดนั้น นายประสงค์กล่าวว่า สนามบิน 4 แห่ง มี 3 แห่งที่ขาดทุนเป็นรูปแบบที่ต้องการนำรายได้จากสนามบินสุวรรณภูมิไปช่วยอีก 3 แห่ง เช่น สนามบินหาดใหญ่ มียอดขายวันละ 2 แสนบาทเท่านั้น หากแยกประมูลแต่ละสนามบิน ไม่จูงใจเอกชนแน่นอน อีกทั้งสินค้าแบรนด์จะไม่เข้ามา สุดท้าย ทอท.เสียประโยชน์
นอกจากนี้ ปัจจุบันกิจการดิวตี้ฟรีสามารถดำเนินการที่ใดก็ได้ ซึ่ง ทอท.จะเปิดประมูลการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (duty free pick-up counter) ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีทุกราย ขายสินค้าแล้วรับที่สนามบินได้
“เรื่องดิวตี้ฟรี มีการตั้งคำถามมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ทอท.ได้รวบรวมให้ที่ปรึกษาศึกษาทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องจึงมั่นใจว่าโปร่งใส”