xs
xsm
sm
md
lg

EV ไทยฝืด! ค่ายรถเมินลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก ขอลุยไฮบริด-ปลั๊กอินไฮบริดก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สศอ.หารือ 3 ค่ายรถล่าสุดเพื่อหนุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด หรือ ECO EV ราคาไม่ถึงล้านบาทเหลว! ค่ายรถเตะถ่วงแผนลงทุนเหตุปัจจุบันมาตรการส่งเสริมรถไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดหมดปี 68 ก่อนค่อยมาว่ากัน

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับค่ายรถยนต์หลัก 3 ค่าย คือ โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน ถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการลงทุนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด หรือ อีโค อีวี (ECO EV) โดยจากการหารือค่ายรถยนต์ล่าสุดและจากการสอบถามส่วนใหญ่ต่างมองว่าการลงทุนอีโค อีวี ยังไม่จูงใจ โดยเห็นว่าในช่วง 6 ปีนี้ภาครัฐยังไม่ควรมีมาตรการเพิ่มเติม แต่ควรรอให้มาตรการภาษีสรรพสามิตที่ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด(HEV)และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จบลงในปี 2568 ก่อน จึงควรหามาตรการแก้ไขต่อไป

“หลังจากนี้ สศอ.จะสรุปสถานการณ์ล่าสุด เสนอกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ industry 4.0 เพื่อทราบสถานะและพิจารณาตัดสินใจต่อไปว่าประเทศไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะเดินออกจากข้อติดขัดของการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านี้ร่วมกัน หรือไม่อย่างไร” นายณัฐพลกล่าว

ปัจจุบันสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนหลักและลดหย่อนภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) อยู่แล้ว อีกทั้งหากรัฐจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีโคอีวี ในภาวะที่ตลาดยังไม่ได้มีความต้องการมากนัก อาจยังไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน เพราะไทยก็ยังไม่มีความพร้อมเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้ามารองรับอีกด้วย

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริม ECO EV มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ (1) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถปรับพลิกโฉมฐานการผลิตรถยนต์ ECO Car ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งหลักของประเทศไทย ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการภาษีสรรพสามิตของการส่งเสริม EV ระยะแรก และ (2) เพื่อปิดจุดอ่อนของมาตรการส่งเสริม EV ในรอบแรก ซึ่งจากโครงการที่บริษัทเสนอขอรับการสนับสนุนทั้งหมด สศอ. พบว่า มีปัญหาใน 3 ประเด็นหลักคือ ร้อยละ 79.8 ของรถยนต์ทุกคันเป็นการลงทุนผลิต HEV ที่ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ จึงไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้ไปสู่ BEV ในอนาคตได้ และกว่าร้อยละ 91.8 ของรถยนต์ที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน ไม่มีการลงทุนใน Core Technology ของ EV ในประเทศไทยเลย โดยเป็นการประกอบขั้นปลายสุด คือ ประกอบตัวถังและทดสอบแบตเตอรรี่

นอกจากนี้ รถยนต์ทุกคันที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน มีราคาสูงกว่าที่ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ คือ ราว 1-6 ล้านบาท ซึ่งย่อมจะทำให้จะไม่แพร่หลายหรือมีขนาดการผลิตที่เพียงพอสำหรับการลงทุนผลิต Core Technology ของ EV ในประเทศไทย ประกอบกับ นายกรัฐมันตรีได้มีข้อสั่งการให้มีการเร่งรัดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย เพื่อเป็นอีกทางเลือกของประชาชนในกานช่วยกันลดฝุ่น pm 2.5 จากการใช้รถยนต์ดีเซล และเบนซิน
กำลังโหลดความคิดเห็น