xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปปี 62 ยังแรงไม่ตก ลุ้นรัฐคลอดเกณฑ์โซลาร์ภาคประชาชน 20 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมอุตฯ เซลล์แสงอาทิตย์ไทยเผยการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปใช้เอง หรือ IPS ยังแรงไม่ตก คาดปีนี้จ่อติดตั้งอีก 500 เมกะวัตต์ จับตาธุรกิจบริการครบวงจรลงทุนติดตั้งและขายไฟให้เจ้าของหลังคา หรือ Private PPA กำลังมาแรง คาดปี 2580 IPS กระหึ่มหมื่นเมกะวัตต์แน่ รอลุ้นภาครัฐประกาศเงื่อนไขโซลาร์ภาคประชาชนนำร่อง 20 มี.ค.นี้

นายดุสิต เครืองาม ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไท เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) รูปแบบผลิตเองใช้เอง (IPS) ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่องโดยคาดว่าปี 2562 จะมีการติดตั้งประมาณ 500 เมกะวัตต์ (MW) เมื่อยึดตามระยะเวลาสิ้นสุดของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018 )ที่สิ้นสุดแผนปี 2580 คาดว่าจะมี IPS ทั้งสิ้น 10,000 เมกะวัตต์และเมื่อรวมกับโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยสำหรับภาคประชาชน (โซลาร์ภาคประชาชน) ที่รัฐกำหนดไว้ใน PDP อีก 10,000 เมกะวัตต์จะรวมเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปรวมสูงถึง 20,000 เมกะวัตต์

“โซลาร์รูฟท็อปจะมี 2 โปรแกรม คือ โซลาร์เสรี คือ เน้นติดตั้งเองใช้เอง (IPS) ไม่มีไฟไหลย้อนขายเข้าระบบ ไม่จำกัดจำนวน ซึ่งขณะนี้โรงงาน อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ยังคงมีการขอจดแจ้งเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้นต่อเนื่อง เพราะการลงทุนเริ่มลดลงจากอดีตช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมากว่า 50% ทำให้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่าที่รับซื้อจากการไฟฟ้าเกิดความคุ้มค่า ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เป็นบริษัทที่ 3 ในการลงทุนให้กับผู้ที่มีหลังคาอาคาร โรงงานแล้วขายไฟให้ในราคาต่ำหรือเป็นบริการแบบ Private PPA ที่กำลังมาแรง” นายดุสิตกล่าว

สำหรับโซลาร์ภาคประชาชน คือ การที่รัฐกำหนดเงื่อนไขให้มีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากที่เหลือใช้ได้โดยทราบว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะออกหลักเกณฑ์การรับซื้อนำร่องในปี 2562 จำนวน 100 เมกะวัตต์ก่อนจากแผนพีดีพีที่กำหนดรับซื้อจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนไว้ตลอด 20 ปี (ปี 61-80) รวม 10,000 เมกะวัตต์ซึ่งคาดว่าการประกาศรับสมัครให้ยื่นขายไฟฟ้าได้อย่างเป็นทางการจะเวลาอีก 1-2 เดือนกว่าจะมีการลงทุนติดตั้งคงจะทยอยได้กลางปีนี้จึงเหลือเวลาไม่มากนักดังนั้นปีนี้การตื่นตัวจากภาคประชาชนคงจะไม่มากเท่าที่ควรคงต้องรอในปีถัดๆไป

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือราคาอัตราค่าไฟฟ้าที่สามารถไหลย้อนกลับหรือรับซื้อเข้าระบบหากเฉลี่ยอยู่ระดับ 1.60-1.80 บาทต่อหน่วยยังถือว่าเป็นอัตราที่ไม่ได้จูงใจมากนักและผู้ประกอบการติดตั้งทางที่ดีควรจะต้องเข้าไปประเมินว่าบ้านแต่ละหลังนั้นมีการใช้ไฟฟ้ากลางวันมากน้อยเพียงใดเพื่อไม่ให้การติดตั้งเหลือกำลังผลิตไฟมากเกินกว่าที่รรัฐจะรับซื้อได้ โดยคาดว่ารัฐจะกำหนดให้การไฟฟ้าต้องติดตั้งมิเตอร์ที่มีรูปแบบการอ่านค่าการขายไฟและการซื้อไฟเข้าระบบ

“เข้าใจว่าปีแรกประชาชนคงจะยังไม่ได้รับรู้มากนักต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์และการศึกษารูปแบบให้แน่ชัดก่อนจึงมองว่าน่าจะอืด และจากนั้นเมื่อมีการศึกษาและมีการปรับให้เข้าที่เข้าทางก็น่าจะมีมากขึ้น โดยเบื้องต้นการรับซื้อ 100 เมกะวัตต์แรก เฉลี่ยหลังคาละ 5,000 กิโลวัตต์ ก็จะครอบคลุมถึง 2 หมื่นหลังคาครัวเรือน ถือเป็นปริมาณที่มากพอสมควร” นายดุสิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 มี.ค.นี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะร่วมกับนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และน.ส.นฤภัทร โฆษิตอมร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) จะแถลงเปิดตัวโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จากนั้นจึงจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น