xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะส่วนต่อรถไฟสายสีแดง “ตลิ่งชัน-ศิริราช” 6.6 พันล้าน เร่งเปิดปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ครม.อนุมัติรถไฟสายสีแดงต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6.6 พันล้าน เติมเต็มโครงข่ายรถไฟชานเมืองเชื่อมเดินทางเข้าสถานีกลางบางซื่อ “คมนาคม” เร่งประมูลก่อสร้างเปิดปี 65

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (5 มี.ค.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ในกรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา จำนวน 10 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 177.73 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) จำนวน 40.24 ล้านบาท, ค่างานโยธาและระบบราง จำนวน 2,706.56 ล้านบาท, งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จำนวน 1,997.33 ล้านบาท และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 1,713.17 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างรวม 5 ปี โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 65

โดยรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. ประกอบด้วย 3 สถานี คือ 1. สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน 2. สถานีบางขุนนนท์ และ 3. สถานีธนบุรี-ศิริราช ซึ่งสถานีนี้จะเชื่อมต่อกับอาคารของ รพ.ศิริราช ทำให้ประชาชนผู้เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

โดยเป็นเส้นทางส่วนต่อขยายของรถไฟชานเมืองสายสีแดงทางฝั่งทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีตลิ่งชันไปยังบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเส้นทางรถไฟของช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่สถานีจรัญสนิทวงศ์ และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ที่สถานีศิริราช จะช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

สายสีแดงอ่อนจะเป็นรถไฟชานเมือง เป็นรถไฟฟ้าที่มีค่าก่อสร้างถูกกว่ารถไฟฟ้าในเมือง หรือ BTS จุดเด่นคือ รางสามารถใช้ร่วมกับรถไฟธรรมดาได้ มีระยะทาง 4.3 กม. รางขนาด 1 เมตร เป็นระบบทางคู่ ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. แต่วิ่งจริง 120 กม./ชม. คาดเปิดให้บริการได้ในปี 65 ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เพราะอยู่ในเขตของการรถไฟทั้งหมด

สำหรับแหล่งเงินค่าก่อสร้างนั้นให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) เพื่อเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) ค่างานโยธาและระบบราง งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานจัดหาตู้รถไฟฟ้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในกรอบวงเงิน 6,635.03 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศที่เหมาะสม วิธีการให้กู้ต่อ และค้ำประกันเงินกู้ หรือให้กู้ตามแผนการดำเนินงาน และแผนการใช้จ่ายเงิน

พร้อมกันนี้ให้ ร.ฟ.ท.จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นงบชำระหนี้รายปีเฉพาะในส่วนค่าโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลรับภาระ ได้แก่ ค่างานโยธาและระบบราง ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,924.53 ล้านบาท ส่วนค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 3,710.50 ล้านบาท เห็นควรให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้รับภาระ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ก.ค.59 ส่วนค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา จำนวน 10 ล้านบาท ให้ ร.ฟ.ท.ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังมิได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการขอบรรจุแผนการกู้เงินไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามนัย พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 และการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องกำหนดสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัดด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

นายณัฐพรกล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังได้มีข้อสังเกตไปถึง ร.ฟ.ท.ในการจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าอีก 4 ขบวน วงเงิน 1,713 ล้านบาทว่า ขอให้ ร.ฟ.ท.ไปพิจารณาว่าในเมื่อรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากเส้นทางรถไฟสายสีแดงอ่อน และมีการเดินรถที่ต่อเนื่องกันอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 4 ขบวน ซึ่งจะสามารถลดงบประมาณในโครงการลงได้กว่า 1,700 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น