xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยอ่วม ขาดทุน 1.16 หมื่นล้าน แบกต้นทุนน้ำมัน-ค่าซ่อมบำรุงหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การบินไทยยังอ่วม ปี 61 ขาดทุน 1.16 หมื่นล้าน เจอปัญหาต้นทุนทั้งราคาน้ำมันสูงขึ้น-ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำปี 2561 ขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 11,625 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.33 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 2,107 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.97 บาท และขาดทุนจากการดำเนินงาน 9,058 ล้านบาท และมีกำไร 2,856 ล้านบาท

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานรวมจำนวน 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท (3.9%) แต่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 10.3% อยู่ที่ 208,558 ล้านบาท โดยเป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 19.7% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% ซึ่งแม้จะมีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนก็ตาม และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันสูงขึ้น 7.3% สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางการเงินสุทธิลดลง 4.7% จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินต่อเนื่องในปีก่อน

นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 3,459 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 911 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบิน และผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงส่วนได้ส่วนเสียในเงินลงทุน (EBITDA) จำนวน 14,494 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 39.7% โดยมี EBITDA Margin เท่ากับ 7.3% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ 12.5%

ในปี 61 การบินไทยได้รับมอบเครื่องบินใหม่จำนวน 5 ลำ และปลดระวางเครื่องบินแบบโบอิ้ง B737-400 จำนวน 2 ลำ ทำให้ฝูงบินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ 31 ธ.ค. 61 มีจำนวน 103 ลำ สูงกว่าสิ้นปีก่อน 3 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12 ชั่วโมงเท่ากับปีก่อน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 2.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1.0% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.6% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 79.2% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 1.0%

ในปีนี้บริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงทางบัญชี ได้แก่ การเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ จากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 6 ของมูลค่าต้นทุนเริ่มแรก ทำให้ค่าเสื่อมราคาของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจำนวน 3,129 ล้านบาท และการทบทวนระยะเวลาการรับรู้บัตรโดยสารที่จำหน่ายแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้บริการ จากเดิมรับรู้เป็นรายได้เมื่อบัตรโดยสารมีอายุเกินกว่า 24 เดือน เป็น 15 เดือน นับจากวันที่ออกบัตรโดยสาร ทำให้รายได้ค่าโดยสารสำหรับปี 2561 เพิ่มขึ้น 1,028 ล้านบาท

ในปี 2561 การแข่งขันอุตสาหกรรมการบินยังคงรุนแรง ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมจำนวน 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท (3.9%) ทั้งจากรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รายได้ค่าระวางขนส่งไปรษณียภัณฑ์ รายได้จากการบริการอื่นๆ และรายได้อื่นๆ แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 208,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,468 ล้านบาท (10.3%) เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 9,881 ล้านบาท (19.7%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1%

อย่างไรก็ตาม มีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ดีขึ้นกว่าปีก่อน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันสูงขึ้น 9,802 ล้านบาท (7.3%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินสุทธิลดลง 215 ล้านบาท (4.7%) จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินต่อเนื่องจากปีก่อน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำปี 2561 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 9,058 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 2,856 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 268,721 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 12,054 ล้านบาท (4.3%) หนี้สินรวมมีจำนวน 248,265 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 497 ล้านบาท (0.2%) และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 20,456 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 11,557 ล้านบาท (36.1%) สาเหตุหลักเกิดจากขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในปี 2561

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจปี 2561 เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทฯ หลุดพ้นจากปัญหาการขาดทุน และสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยในปี 2562 นี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะสร้างรายได้อย่างเร่งรัด โดยจะดำเนินการในหลายมิติ ได้แก่ การปรับปรุงฝูงบินให้ทันสมัยและสามารถแข่งขันได้ การปรับปรุงการบริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การบริการภาคพื้นจนถึงการบริการบนเครื่องบิน (Ground to Sky) การบริหารจัดการด้านการขายและการตลาด โดยเฉพาะด้าน Digital Marketing การหารายได้เสริม การเพิ่มขีดความสามารถและการขยายธุรกิจ เช่น โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงศักยภาพด้านบุคลากร และการจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสมกับธุรกิจยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น