xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ลุยเดินหน้า EECi เมืองนวัตกรรมใหม่ ปตท.เร่งโรดโชว์ดึงบริษัทชั้นนำโลกมาลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์ วัลเล่ย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยร่วมพิธีเปิดหน้าดินก่อสร้าง “EECi เมืองนวัตกรรมใหม่” และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสถาบันการศึกษา “วิทยสิริเมธี-กำเนิดวิทย์” ด้าน ปตท.เตรียมโรดโชว์ต่างประเทศดึงบริษัทชั้นนำโลกเข้ามาลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ EECi ทั้งไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ CISCO อูเบะ เทงบ 2. 5 พันล้านบาทลุยก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน

วันนี้ (27 ก.พ.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเขตพัฒนาด้านการศึกษา นวัตกรรม และเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. พร้อมทั้งตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โครงการภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดย ปตท.เตรียมเริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ขณะที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเริ่มก่อสร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีให้เกียรติทำพิธีเปิดหน้าดิน (Groundbreaking Ceremony) เพื่อเริ่มงานก่อสร้าง และได้ชมทัศนียภาพพื้นที่ EECi ในระยะไกลจากที่สูง ณ หอชมวิว รวมถึงเยี่ยมชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เยี่ยมชมงานวิจัยของนิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล ด้านวิทยาการพลังงาน และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ปตท.

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนา EECi ให้เป็นเมืองนวัตกรรมใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย ปตท.มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคบนพื้นที่ 3,455 ไร่ของ EECi ให้มีความทันสมัยในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมครบวงจร โดยจะดึงบริษัทชั้นนำด้านไอทีของโลกเข้ามาลงทุนวิจัยและพัฒนา เช่น ไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม อูเบะ CISCO SAP เป็นต้น

เร็วๆ นี้ ทาง ปตท.จะเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง เพื่อชักชวนให้บริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนใน EECi โดยการลงทุนเหล่านี้จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งบอร์ด ปตท.ได้อนุมัติงบลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในวังจันทร์วัลเลย์ราว 2.5 พันล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี เพื่อสร้างบุคลากรรองรับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว

“ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้านอย่างสมดุล (หลัก 3P) ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม (People) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Prosperity) สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ EECi นี้ ปตท.ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. จึงพร้อมให้การสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย ปตท.มุ่งหวังให้โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EECi เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมชั้นสูง เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการสร้าง Innovation Platform และ Smart Community เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ EECi อย่างยั่งยืน อันจะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้มั่นคงอีกด้วย” นายชาญศิลป์กล่าว

ด้านนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ได้มีการจัดพิธีเปิดหน้าดินก่อสร้าง ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2562 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะเริ่มก่อสร้างอาคารเมืองนวัตกรรมภาคตะวันออก ระยะที่ 1 อย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค. 2562 นี้ ใช้เวลา 2 ปี แล้วเสร็จปี 2564 มูลค่าลงทุนกว่า 1,100 ล้านบาท และวางเป้าหมายผลักดันสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน

“พื้นที่กว่า 3,455 ไร่ของวังจันทร์วัลเล่ย์จะได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรมอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ EECi เป็นโรงงานต้นแบบ และโรงเรือนอัจฉริยะของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) และเมืองนวัตกรรมด้านการบิน และอวกาศ (SPACE INNOPOLIS)” นายณรงค์กล่าว

ทั้งนี้ แผนการลงทุนระยะต่อไป ระหว่างปี 2563-2565 จะมีการลงทุนในส่วนของโรงงานต้นแบบ ไบโอ รีไฟเนอรี มูลค่ากว่า 3,400 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย ทั้งนี้ การลงทุนใน EECi จะมาจากภาครัฐ 30% วงเงินประมาณ 3.31 หมื่นล้านบาท และในสัดส่วน 70% คาดว่าจะเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมูลค่าประมาณ 1.10 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยประเมินว่าโครงการจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 2.71 แสนล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น