สนข.สรุปแผนแก้วิกฤตจราจร ชง คจร.ผุดอุโมงค์, สะพานข้ามแยก เล็งเปิดเรือโดยสารใน 7 คลอง เช่น มหาสวัสดิ์, เปรมประชากร, ลาดพร้าว, รังสิตประยูรศักดิ์, บางลำพู เชื่อมต่อกับรถโดยสารและสถานีรถไฟฟ้า หาโมเดลลดภาษีจูงใจเอกชนร่วมหนุนพนักงานออฟฟิศใช้รถสาธารณะ
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้สรุปแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีมาตรการระยะเร่งด่วน และระยะกลาง ประกอบกับที่รถไฟฟ้าจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2563 และการทำทางลอดอุโมงค์และสะพานข้ามแยกในจุดที่มีวิกฤตจราจร โดยจะนำเสนอแผนต่อที่ประชุมที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ต่อไป
นอกจากการดำเนินการกวดขันการฝ่าฝืนและการกระทำผิดกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด การจอดทิ้งรถที่ชำรุดไว้ริมทาง และบริเวณใต้ทางด่วน การขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า การแซงในที่คับขัน โดยเฉพาะเรื่องการขับขี่สวนทิศทางการจราจร ให้พิจารณาดำเนินการศึกษาจุดกลับรถที่เหมาะสมสำหรับผู้ขี่รถจักรยานยนต์แล้ว
ภาครัฐจะมีมาตรการจูงใจต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การเพิ่มจุดจอดแล้วจร (Park & Ride) เพื่อให้จอดรถนอกเมืองและใช้รถไฟฟ้าหรือรถโดยสารสาธารณะเดินทางเข้าเมือง รวมถึงเพิ่มบริการขนส่งในแม่น้ำลำคลอง โดยจัดเพิ่มเรือด่วนพิเศษ (Express Boat) ในคลองแสนแสบและในคลองอื่นๆ ที่สามารถเดินเรือได้ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน
ทั้งนี้ สนข.ได้ศึกษาแผนการเพิ่มเส้นทางเดินเรือโดยสารเป็น 12 คลองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีการเดินเรือแล้วใน 5 คลอง ได้แก่ คลองแสนแสบ คลองบางกอกใหญ่ (กทม.มีแผนเปิดเดินเรือในปี 2562) คลองบางกอกน้อย (กทม.มีแผนเปิดเดินเรือในปี 2562) คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ
เพิ่มเติมอีก 7 คลองที่มีศักยภาพ เช่น คลองอ้อมนนท์ คลองมหาสวัสดิ์ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองบางลำพู ซึ่งหากแผนได้รับการอนุมติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า (จท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะต้องร่วมกันศึกษารายละเอียด เช่น การกำหนดจุดท่าเทียบเรือที่เหมาะสม สามารถเดินหรือเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้ง่าย รวมถึงการใช้เรือที่มีเครื่องยนต์ไฮบริดแทนดีเซลเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
***ลุยศึกษาโมเดล มาตรการภาษี ดึงเอกชนร่วมมือใช้รถสาธารณะเดินทาง
นอกจากนี้ ได้เสนอมาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจภาคเอกชนให้ร่วมมือ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายของพนักงานที่ใช้รถขนส่งสาธารณะในการเดินทางมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่ง สนข.จะมีการศึกษารูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงงบประมาณสำหรับสนับสนุนมาตรการ ซึ่งในประเทศเยอรมนีมีการตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการสนับสนุนภาษีที่เกี่ยวข้องกับด้านคมนาคมขนส่ง เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี
***เดินแผนในปี 73 ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคขนส่งลง 31 ล้านตันคาร์บอนฯ
นายสราวุธกล่าวว่า นอกจากนี้ สนข.ได้ทำการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมาตรการและนโยบายด้านการขนส่งเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 23 พ.ค. 2560 เห็นชอบแผนที่นำทางการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในปี 2564-2573 โดยมีเป้าหมายลดลง 20% หรือ 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 โดยเป็นภาคคมนาคมขนส่งที่ 31 ล้านตันคาร์บอนฯ
ทั้งนี้ จากแผนเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง ในการลด-เปลี่ยน-ปรับปรุง เช่น การเปลี่ยนรูปแบบเดินทาง หรือ Shift mode เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมือง, ก่อสร้างรถไฟชานเมือง, รถไฟทางคู่, ปรับปรุงการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ, รถโดยสารสาธารณะเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นไฮบริด หรือไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ลดการปล่อยก๊าซในภาคคมนาคมในปี 2573 ได้ถึง 35.42 ล้านตันคาร์บอนฯ ซึ่งเกินเป้าหมาย