ทีวีไดเร็คแตะเบรกซื้อหุ้นช่องสปริงนิวส์ เหตุเงื่อนไขเปลี่ยน หลัง กสทช.เข้าอุ้มเยียวยา แต่ยังสนใจพร้อมเจรจาตลอด จากนี้อยู่ในฐานะพันธมิตรเช่าเวลาเหมือนเดิม พร้อมซื้อเวลาเพิ่มช่องอื่นและทีวีดาวเทียมแทน
นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจยุติการเข้าลงทุนในสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัล ช่อง 19 (ช่องสปริงนิวส์) โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 26 ก.พ. 62 ที่ผ่านมามีมติให้ยุติการเข้าซื้อหุ้นบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ในเครือ บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น ที่ดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลช่อง 19
เนื่องจากภายหลัง กสทช.เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ส่งผลให้เกิดการเจรจาระหว่างกันภายใต้เงื่อนไขใหม่ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้
“เดิมดีลนี้มาก่อนที่ กสทช.จะออกมาตรการเยียวยาในวันที่ 11 ธ.ค. 61 ที่ผ่านมา ดีลนี้จึงไม่เกิดขึ้นเพราะยังไม่มีการเซ็นสัญญา แต่ยังมีการต่อรองเรื่อยมา ซึ่งเงื่อนไขต่อรองสะเทือนเงื่อนไขสัญญาหลักของผู้ถือหุ้นไปกับ 3 ข้อหลัก คือ เรื่องของราคา การจ่ายชำระเงิน และการซื้อภายใต้เงื่อนไขที่สปริงนิวส์ต้องเคลียร์หนี้ให้หมดก่อน จากเดิมดีลนี้ที่วางไว้คือ 124 เดือน จ่ายเดือนละ 1,8710,000 บาท
ดังนั้น ทางบอร์ดจึงมีมติยุติดีลการซื้อช่อง 19 (สปริงนิวส์) แล้วกลับมาเจรจากันใหม่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งได้แจ้งแก่ทางสปริงนิวส์เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทกับทางช่อง 19 ยังเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีต่อกันอยู่ โดยทางทีวีไดเร็คยังถือสัญญาการเช่าเวลา 18 ชม./วัน ไปจนถึงเดือน ส.ค. 62 นี้ ระหว่างนี้จะมีคอนเทนต์เข้ามาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ และสารคดี ที่ทางบริษัทได้ซื้อจากเจเคเอ็น
นางทรงพลกล่าวต่อว่า แน่นอนว่าการซื้อย่อมมีต้นทุนที่ถูกกว่าการเช่าเวลา แต่การยุติซื้อหุ้นช่อง 19 ไม่มีผลต่อกระแสเงินสด แต่อาจจะมีผลต่อรายได้ปีนี้ที่อาจจะต้องปรับใหม่ อีกทั้งต้องหันไปลงทุนด้านอื่นชดเชย เช่น ทีวีดาวเทียม เป็นต้น ส่วนช่อง 19 จะเปลี่ยนชื่อใหม่หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับทางเจ้าของช่อง
ด้านนายพงษ์ชัย ชัญมาตรกิจ หัวหน้าสายงานสถานีโทรทัศน์ TVD บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตามบริษัทยังสนใจที่จะซื้อหุ้นบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ในเครือ บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น ที่ดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลช่อง 19 ซึ่งยังคงมีการเจรจากันอยู่ตลอด แต่ระหว่างนี้อาจจะกลับมาที่สัญญาความร่วมมือเดิม กับการเช่าเวลาสถานีโทรทัศน์ช่อง 19 แบบเดิม กับจำนวนการเช่าเวลาที่ 18 ชม./วัน หรือน้อยกว่านั้น เป็นต้น
“บริษัทยังสนใจซื้อหุ้นช่อง 19 อยู่ แม้ดีลเดิมจะต้องยุติลง ส่วนดีลใหม่ต้องกลับมาดูที่เงื่อนไขกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งทางช่อง 19 เองก็ต้องรอดูมาตรการเยียวยาจาก กสทช.ด้วยว่าจะออกมาอย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่ชัดเจน รวมถึงต้องรอดูเงื่อนไขจากทาง FA ประกอบกัน ระหว่างนี้ก็ซื้อเวลาช่องทีวีอื่นเพิ่มซึ่งมีเพียงไม่กี่ช่องที่ทีวีไดเร็คไม่ได้ซื้อเวลา เช่น ช่อง 8, เวิร์คพ้อยท์ทีวี และโมโน เป็นต้น รวมถึงหันมาซื้อเวลาทางทีวีดาวเทียมอีก 40 ช่องแทน” นายพงษ์ชัยสรุป