xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.ไฟเขียว “มิตรผล” เดินหน้าโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ หลังพ่วงเงื่อนไขแนบท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กกพ.” ลงมติออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล “มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ)” หลังพ่วงเงื่อนไขแนบท้ายประกอบการอนุญาตตามข้อเรียกร้องของชุมชน

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า ใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.1) และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า (รง.4) ให้แก่ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด พร้อมกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในการดูแลผลกระทบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมในพื้นที่

“โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบโดยกลุ่มมิตรผล ที่ได้แสดงเจตจำนงในการที่จะจัดทำมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และลดข้อวิตกกังวลของประชาชน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างเป็นสุข สามารถสร้าง พัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างยั่งยืน” นางสาวนฤภัทรกล่าว

ทั้งนี้ การประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 32,500.00 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) หรือ 26 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองฯ จ.อำนาจเจริญ โดยกำหนดเงื่อนไขประกอบการอนุญาตให้บริษัทฯ ต้องดำเนินโครงการโดยจะต้องบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัด หากพบว่าฝ่าฝืนหรือไม่มีการปฏิบัติ กกพ.จะระงับการก่อสร้างโครงการได้ทันที

ก่อนที่จะมีมติอนุมัติโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 กกพ.ได้มีมติให้ชะลอการอนุญาตโครงการการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 32,500.00 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) หรือ 26 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองฯ จ.อำนาจเจริญ หลังจากที่กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกพ.เพื่อขอให้ระงับการอนุญาตและตรวจสอบข้อเท็จจริงในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่อาจจะไม่ครอบคลุม และยังมีความห่วงใยกับผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า


โดยในการดำเนินการ นายเสมอใจ ศุขสุเฆษ ประธาน กกพ. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กกพ.พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สำนักงาน กกพ. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง ภายหลังจากการลงพื้นที่และการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการให้บริษัท มิตรผลฯ เข้าชี้แจง และแสดงเจตจำนง จนเกิดความมั่นใจ จึงได้นำไปสู่การอนุญาตดังกล่าว

“ในส่วนของใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า กกพ.ได้มีมติให้เพิ่มเงื่อนไขเฉพาะในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า เป็น 9 ข้อ เช่น ต้องปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องนำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาข้อจำกัด และข้อเสนอแนะต่อสำนักงานเป็นประจำทุก 6 เดือน เป็นต้น”

สำหรับมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อวิตกกังวลของประชาชนเพิ่มเติมตามที่ตัวแทนกลุ่มบริษัทมิตรผลฯ ได้แสดงเจตจำนงยินดีที่จะจัดทำมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมมี 12 ข้อ เช่น 1. บริษัทฯ จะควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุดและจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMs) 2. จัดส่งรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินให้แก่สำนักงาน กกพ.ทุกเดือน 3. ยินดีจะเชิญผู้ร้องเรียนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคี จัดตั้งกองทุนมวลชนสัมพันธ์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในรัศมี 5 กิโลเมตร เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น