xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.วาง “ไทยกรุ๊ป” ใช้เทอร์มินัล 2-ดึงการบินไทยร่วมออกแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทอท.เผย AOC- IATA หนุนเร่งสร้างเทอร์มินอล 2 ทิศเหนือของ Concourse A เร็วที่สุด ชูเป็นอาคารของ “ไทยกรุ๊ป” และผู้โดยสารในประเทศ ดึง “การบินไทย” ร่วมวางแนวคิด คาด เม.ย. ประมูลแบบใหม่ พร้อมชี้แจง สศช. ยันแผนอาคาร 2 และขยายฝั่งตะวันตก

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องยกเลิกการประมูลสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก (บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด เป็นแกนนำ) ชนะประมูล เนื่องจาก ทอท.เห็นว่ายังมีข้อกังวลเกี่ยวกับแบบ และต้องการปรับปรุงแบบที่มีประสิทธิสูงสุด โดยรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งเป็นดูแลด้านมาตรฐาน, คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (AOC) ซึ่งมีสายการบินเป็นสมาชิกก่อน โดยคณะทำงานได้ประชุมร่วมกัน 2 ครั้งแล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อคณะทำงานชุดใหญ่ ในเดือน เม.ย. จากนั้นจะเร่งเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ออกแบบใหม่

ปัญหาของสุวรรณภูมิ คือ ผู้โดยสารเติบโตเกินขีดรองรับประมาณปีละ 4 ล้านคน ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องการให้มีอาคารผู้โดยสารใหม่ที่มีขนาดใหญ่โดยเร็วที่สุดเพื่อลดความแออัด ก่อนหน้านี้การวางแนวคิดอาจจะยังไม่ชัด แต่ล่าสุดได้หารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และจะมีการประกาศว่า อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 คือ อาคารของ “ไทยกรุ๊ป “ และผู้โดยสารภายในประเทศ ดังนั้นจะชัดเจนว่าใครบ้างที่ใช้อาคารนี้ และการออกแบบอาคารจะฟังความต้องการของการบินไทยในฐานะผู้ใช้หลักเพื่อนำมาปรับแบบให้เหมาะสม เช่น ปัญหาจากอาคารเดิมมีอะไรบ้าง, การเติบโตผู้โดยสารของการบินไทยเป็นอย่างไร

“ทอท.ต้องการสนับสนุนการบินไทยที่มีผู้โดยสารในประเทศ และระหว่างประเทศ การต่อเชื่อมภายในอาคารเดียวกันจะทำได้รวดเร็ว ยึดผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกมากที่สุด แบบของดวงฤทธิ์ที่เสนอมาจะพัฒนาตามแนวคิดนี้ยาก ก็ต้องประมูลใหม่ โดยครั้งนี้จะมีแนวคิดที่ชัดเจนขึ้นว่าต้องการอะไร เพราะแบบที่ดีที่สุดคือแบบที่ผู้ใช้ช่วยออกความเห็น”

โดยการดำเนินการออกแบบเทอร์มินัล 2 ใหม่จะยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ 4.2 หมื่นล้านบาท ดำเนินการบนพื้นที่ว่างด้านทิศเหนือของ Concourse A ซึ่งเป็นไปตามรายงานผลการศึกษาของ ICAO และเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Plan) เป็นอาคารผู้โดยสาร

นายเอนกกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ทอท.จะเร่งสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอนุมัติการลงทุนต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่าการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาขีดความสามารถสนามบินนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. โดยแจ้งให้กระทรวงคมนาคมรับทราบมาโดยตลอด ขณะที่จะเสนอ สศช.และครม.เพื่อขออนุมัติงบประมาณซึ่งจะต้องดูแผนแม่บทประกอบการพิจารณา และ ทอท.พร้อมชี้แจงและยืนยันกรอบแนวคิดการพัฒนาดังกล่าวต่อ สศช. รวมถึงจะยืนยันการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion Building) ก่อนด้วย โดยจะมีการว่าจ้างที่ปรึกษารายเดิมที่ออกแบบอาคารด้านตะวันออก วงเงิน 50 ล้านบาท ให้นำแบบเดิมของอาคารด้านตะวันออกมาพัฒนาปรับปรุงแบบกลับด้าน ใช้เวลาปรับปรุงแบบ 4 เดือน เพื่อเร่งก่อสร้างต่อไป

ส่วนการขยายด้านตะวันออก (East Expansion Building) จะทำในลำดับถัดไป โดยรอให้งานก่อสร้างด้านตะวันตกเสร็จก่อน เพื่อให้อาคารหลักมีพื้นที่ให้บริการเพิ่ม ทอท.ยืนยันว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องมีการพัฒนาขยายไม่หยุด แต่ต้องจัดลำดับให้ดีไม่ให้กระทบบริการผู้โดยสาร กรณีก่อสร้างอาคารด้านตะวันออกจะเกิดปัญหาเปิดงานได้แต่ปิดงานก่อสร้างไม่ได้ และจะมีค่างานนอกสั่ง หรือ VO (Variation Order) ที่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกมากด้วย

“แผนที่ปรับเป็นไปตามสถานการณ์ ทอท.คุยกับผู้ใช้สนามบิน สายการบิน ทุกคนเห็นด้วย ทอท.เป็นผู้บริหาร พร้อมรับผิดชอบหากพัฒนาตามนี้แล้วมีปัญหา ทุกวันนี้ขยายช้า เกิดความแออัดมาก เป็นการเอาเปรียบผู้โดยสาร เมื่อมีกระแสสังคมเกิดขึ้นต้องถอยคนละก้าวเพื่อปลดล็อกเพื่อให้มีทางออก” นายเอนกกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น