xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ทอท.ล้มประมูล “ดวงฤทธิ์” อ้างต้องปรับแบบใหม่-เดินหน้าแผนเทอร์มินัล 2 ตำแหน่งใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บอร์ด ทอท.ยอมล้มประมูลแบบ “ดวงฤทธิ์” อ้างไม่สอดคล้องกับความต้องการผู้ใช้บริการ จำเป็นต้องปรับแบบใหม่ ขณะที่ลุยเทอร์มินัล 2 ตำแหน่งใหม่ ชงคมนาคมและ สศช. ยันสายการบิน AOC, ที่ปรึกษาสนามบิน, IATA หนุนเพื่อแก้ปัญหาแออัด

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธานวันที่ 20 ก.พ. มีมติ ยกเลิกมติบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2561 ที่อนุมัติให้ ทอท.จ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก (บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด เป็นแกนนำ) เป็นผู้รับจ้างงานสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เดิม ซึ่งเคยประกวดแบบไว้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของรูปแบบการใช้งาน จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนการออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น สายการบิน

ส่วนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 (Terminal concourse A Annex วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น บอร์ด ทอท.รับทราบตามที่ฝ่ายบริหารเสนอให้เดินหน้า ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ขออนุมัติต่อไป

ทั้งนี้ จากที่ได้หารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษาสนามบิน (Airport Consultative Committee : ACC) ซึ่งสนับสนุนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความแออัด และรองรับการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association (IATA) ได้สอบถามความคิดเห็นสายการบินที่เป็นสมาชิกแล้ว เห็นว่าควรมีการก่อสร้างเช่นกัน รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (AOC) เนื่องจาก AOC ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าสายการบินในเรื่องความแออัด

เนื่องจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และแนวนโยบายของประเทศที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการคมนาคมขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการอาจทำให้บริษัทสายการบินต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการบิน นอกจากนั้นเห็นว่าการขยายส่วนต่อข้างอาคารผู้โดยสารปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาความแออัดได้

ส่วนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับ และสายการบินต้องเสียต้นทุนอย่างมหาศาล สายการบินจึงต้องการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal concourse A Annex) เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศได้ภายในอาคารเดียวกัน และเห็นด้วยกับการนำหลุมจอดของ Concourse A และ B และ C มาควบรวมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2

รายงานข่าวแจ้งว่า ตามเงื่อนไขทีโออาร์การประกวดออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นั้น ได้มีการสงวนสิทธิ์กรณีที่มีการยกเลิกประกวดราคาได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของ ทอท. ดังนั้น กรณีที่เอกชนจะเรียกร้องใดๆ จะต้องยึดตามทีโออาร์

โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ทอท.ได้มีหนังสือสอบถามขอความคิดเห็นจาก ICAO ในฐานะผู้จัดทำรายงานผลการศึกษาแผนแม่บท เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) 2 ประเด็น คือ
(1) ตามรายงานผลการศึกษาของ ICAO ฉบับเดือนมีนาคม 2554 นั้น ICAO ระบุว่า การขยายอาคารผู้โดยสาร ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก จะยากลำบากสำหรับการดำเนินงานเมื่ออาคารยังถูกใช้งานในสถานการณ์ที่เต็มขีดความสามารถอยู่ และควรย้ายกระบวนการผู้โดยสารภายในประเทศไปยังอาคารในบริเวณอื่น ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ ทสภ.รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถอยู่นั้น ทสภ.ยังควรดำเนินการย้ายผู้โดยสารไปยังอาคารที่แยกเป็นอิสระบริเวณพื้นที่ว่างด้านทิศเหนือของ Concourse A ก่อนใช่หรือไม่
(2) พื้นที่ว่างด้านทิศเหนือของ Concourse A ซึ่งตามรายงานผลการศึกษาของ ICAO ฉบับเดือนเมษายน 2552 ระบุไว้ให้เป็น Area Reserved for Optional Terminal อีกทั้งยังกำหนดผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Plan) บริเวณดังกล่าวเพื่อใช้เป็นอาคารผู้โดยสาร และต่อมาในรายงานผลการศึกษาของ ICAO ฉบับเดือนมีนาคม 2554 กำหนดให้พื้นที่ว่างดังกล่าวสามารถสร้างอาคารที่เป็นอิสระ (Stand-alone) มีชานชาลารับส่งผู้โดยสาร (Curb front) เป็นของตัวเองทั้งขาเข้า (Arrival lanes) และขาออก (Departure lanes) อีกทั้งยังรองรับกระบวนการทั้งหมดของผู้โดยสารภายในประเทศทั้งขาเข้าและขาออกนั้น หมายความว่าอาคารดังกล่าวเป็นอาคารผู้โดยสารใช่หรือไม่
1.2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ICAO มีหนังสือให้ความเห็นทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว ดังนี้
(1) ประเด็นด้านการปรับลำดับและกำหนดระยะเวลาของการพัฒนา ทสภ.ระยะต่างๆ ตามที่ระบุในแผนแม่บท ฉบับเดือนมีนาคม 2554 นั้น ICAO ไม่สามารถประสานเพื่อหาคำตอบจากบริษัทที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่จัดทำแผนแม่บทดังกล่าวได้ในระยะเวลาที่จำกัด  
(2) Optional Terminal และ Concourse A Annex สามารถพัฒนาได้บนที่ดินแปลงเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น