xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เตรียมปักหมุดลงทุน 6 แสนล้าน เด้งรับ “พีดีพีใหม่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กฟผ.เตรียมเงินลงทุน 6 แสนล้านบาท พัฒนาโรงไฟฟ้าหลัก 5,400 เมกะวัตต์ และระบบส่งช่วง 10 ปีแรก รองรับแผนพีดีพฉบับใหม่ (PDP 2018) พร้อมปรับองค์กรรองรับเทคโนโลยีเปลี่ยน มุ่งพัฒนาระบบส่งรองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ ปี 2561-2580 หรือ (PDP2018) กฟผ.จะต้องใช้เงินลงทุน รวม 6 แสนล้านบาทประกอบด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงในระยะ 10 ปีแรกของแผนกำลังผลิตประมาณ 5,400 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท และระบบส่งอีก 3 แสนล้านบาท โดยแผนลงทุนของกฟผ.อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไปหลังจากที่แผนดีพีพีได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปแล้ว

“แผนการกู้เงินจะเน้นในประเทศเป็นหลักและจะต้องดำเนินการก่อนภายใน 5 ปี เพื่อใช้ก่อสร้างในการนำโรงไฟฟ้าทยอยเข้าแผน ขณะเดียวกันก็จะมองหานวัตกรรมาทางการเงินใหม่ๆ เข้ามา เช่น ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund : IF) เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่ 1 กอง เป็นต้น” นายวิบูลย์กล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าหลักของ กฟผ.จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ จำนวน 8 โรง เช่น โรงไฟฟ้าน้ำพอง ขนาด 650 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2568, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขนาด 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2569, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2569 เป็นต้น จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯเป็นหลักมีเพียงแม่เมาะที่จะเป็นถ่านหินลิกไนต์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตามแผนพีดีพีฉบับใหม่กฟผ.จะมีสัดส่วนกำลังผลิตไฟเฉลี่ยตลอดแผนเหลือ 24% จาก 35% แต่โรงไฟฟ้าหลักที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก็จะมีสัดส่วนการผลิตเฉลี่ย 31% ใน 10 ปีแรกถือเป็นสัดส่วนที่เหลือ ขณะเดียวกัน สัดส่วนดังกล่าวนั้นก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากพีดีพีจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทุก 5 ปีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ตามแผนพีดีพี กฟผ.ยังถูกให้มีบทบาทในการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ในเขื่อนหลัก 9 แห่ง กำลังผลิตเบื้องต้น 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งการศึกษาหากดำเนินการเต็มที่สามารถผลิตได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ แต่ทั้งหมดจะเข้าระบบในช่วง 10 ปีหลังของแผน อย่างไรก็ตามสัดส่วนโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำจะแยกออกจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ที่มีสัดส่วน 10,000 เมกะวัตต์ในแผนดีพีพีใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพีดีพีฉบับใหม่จะไม่มีการบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพาไว้ แต่ยังไม่ได้หมายถึงจะยกเลิก เพราะการจะมีหรือไม่ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และหากมีก็ควรจะจัดตั้งในพื้นที่ใด

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.ในฐานะโฆษก กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.จะต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับพีดีพีที่จัดโรงไฟฟ้าให้สอดรับกับความต้องการเป็นรายภูมิภาค และเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น แบ่งเป็น 3 ภารกิจ ได้แก่ 1. การดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค โดยการปรับปรุงและพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ปรับการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เป็นต้น 2. การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเทคนิค กฎระเบียบ ภาษี และการพาณิชย์ เป็นต้น

3. การเตรียมการรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) กฟผ.ได้พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 ถือเป็นเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทนและบริหารจัดการสายส่งให้สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น