xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.สุวรรณภูมิชี้ขยายอาคารฝั่งตะวันออกไร้ประโยชน์ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิยันต้องเร่งขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตกเพราะมีประโยชน์กว่าฝั่งตะวันออก ช่วยเพิ่มพื้นที่ระหว่างประเทศและเพิ่มสายพานกระเป๋าขาเข้า และเร่งเทอร์มินัล 2 เร็วที่สุด ชี้ผู้โดยสารโตเกินคาด

นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีความหนาแน่นอย่างมาก โดยมีผู้โดยสารกว่า 64 ล้านคน/ปี ขณะที่ออกแบบรองรับไว้ 45 ล้านคน/ปี ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในตำแหน่งด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้วางแผนจะก่อสร้างเพื่อรองรับเฉพาะผู้โดยสารภายในประเทศ หรือ Domestic Terminal แต่ปัจจุบันปรับเป็นรองรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยขีดความสามารถรองรับประมาณ 25-30 ล้านคน/ปี ตามที่ ICAO แนะนำ หรือประมาณ 30% ของผู้โดยสารทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้อาคารผู้โดยสารหลังเดิมเป็นหลัก

“เวลานี้ผู้ให้บริการภายในสนามบินสายการบินต่างๆ ต้องการเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารทั้งระหว่างประเทศ และในประเทศโดยเร็ว ล่าสุดผู้โดยสารมีปริมาณสูงสุด 217,000 คน/วัน ช่วงแออัดที่สุดเคยมีผู้โดยสาร 4,500 คน/ชม. ตอนนี้เพิ่มเป็น 5,400 คน/ชม.แล้ว หากการเพิ่มพื้นที่ยิ่งช้าจะยิ่งสูญเสียโอกาสธุรกิจการบินและท่องเที่ยว สูญเสียรายได้ที่จะขับเคลื่อนประเทศ กรณีให้สร้างอาคารผู้โดยสารด้านใต้รัฐต้องลงทุนอีกมาก และใช้เวลาในการทำระบบขนส่งเชื่อมโยง ส่วนตัวในฐานะผู้บริหารสนามบินเห็นว่าจำเป็นต้องมีอาคารหลังที่ 2 ให้เร็วที่สุด”

***ยันปัญหาตอนนี้ต้องแก้ไขด้วยการขยายอาคารฝั่งตะวันตก

สำหรับการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion Building) มีประโยชน์ต่อสนามบินสุวรรณภูมิในเวลานี้มากกว่าการขยายด้านตะวันออก (East Expansion Building) เพราะตอนนี้มีผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่า 80% หากขยายด้านตะวันออกเท่ากับเพิ่มพื้นที่ผู้โดยสารในประเทศ และรองรับเครื่องบินขนาดเล็กที่บินภายในประเทศ

ขณะที่พื้นที่อาคารเดิมที่เคยรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ หากจะใช้รับผู้โดยสารระหว่างประเทศจะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้าง และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

“หากขยายปีกด้านตะวันออก พื้นที่ผู้โดยสารภายในประเทศของอาคารเดิมจะมีปัญหาระบบสายพานกระเป๋าขาเข้าที่รับเครื่องบินใหญ่เพียง 1 ตัวจะมีปัญหากับพื้นที่คัดแยกสัมภาระ (Sorting Area) เพราะเดิมออกแบบเป็นอาคารปีกในประเทศและมองภาพรวมผู้โดยสารที่ 60 ล้านคน/ปี โดยมีผู้โดยสาร transfer รอเปลี่ยนเครื่องประมาณ 20% หรือ 15 ล้านคน ซึ่งตรงนี้อาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารแซตเทิลไลต์) จะมีประโยชน์ เพราะคิดว่าจะเป็นฮับ แต่ความเป็นจริงประเทศไทยไม่มีผู้โดยสาร transfer ทั้งลำ มีแต่น้อย เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่จะมาลงที่ไทยไม่ค่อยมีต่อเครื่อง ดังนั้นแผนแม่บทเดิมปี 2546 จะมีแต่สายพานขาออกเท่านั้นไม่มีสายพานขาเข้า ดังนั้น ผู้โดยสาร 80% ที่เข้ามาต้องใช้รถ Dolly ขนกระเป๋ามาจากเครื่อง ที่ผู้โดยสารบ่นรอกระเป๋านาน ตรงนี้จะยิ่งช้าไปอีก วันนั้นกับวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีสายพานใหม่ ซึ่งขอทำพร้อมกับการขยายอาคารด้านตะวันตก”

ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิกล่าวว่า การขยายอาคารด้านตะวันตกในขณะนี้จะแก้ปัญหาได้ดีกว่า มีโอกาสที่จะให้เครื่องใหญ่ เช่น A380 สามารถจอดเทียบได้พร้อมกัน 10 ลำ นอกจากนี้ การก่อสร้างด้านตะวันตกไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการ

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงมติคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ที่ให้ทอท.ดำเนินการก่อสร้างอาคารด้านตะวันออกก่อนตามแผนเดิมแล้วนั้น ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิกล่าวว่า สภาพัฒน์จะรู้เรื่องการบินดีกว่า ทอท.ที่เป็นผู้บริหารสนามบินหรือไม่

***ลุ้น สผ.อนุมัติ EHIA รันเวย์ 3 เล็งเปิดประมูล ก.ค.นี้

ส่วนมติบอร์ด สศช.อนุมัติให้ ทอท.ดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้การออกแบบรันเวย์ที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ประชุมและมีความเห็นให้ ทอท.ทำข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดทำรายละเอียดด้าน EHIA เพิ่มเติม และเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) พิจารณาอนุมัติได้ประมาณเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นจะสามารถเปิดประมูลได้ ซึ่งแบบเสร็จแล้ว ส่วนร่างทีโออาร์จะดำเนินการไปคู่ขนาน

ทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1.4 หมื่นล้านบาท ค่าชดเชยไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขีดรองรับจาก 68 เที่ยวบิน/ชม. เป็น 94 เที่ยวบิน/ชม. โดยใช้เวลาก่อสร้างส่วนของรันเวย์ประมาณ 1 ปีครึ่ง-2 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น