xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกครึ่งหลังปี 62 ยังอึมครึม หลังเลือกตั้ง-อินฟราฯ ตัวแปรหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกของปี 62 กำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นไปในทางเติบโตต่ำกว่าที่ควรเป็น พร้อมเสนอรัฐบาลพิจารณาลดภาษีสินค้าแบรนด์หรู, จัดใหญ่ ไทยแลนด์ แบรนด์ เซล เอาใจนักท่องเที่ยว, ปรับเพิ่มค่าจ้างผู้สูงอายุ, ผลักดันประกาศกฎระเบียบค่าจ้างขั้นต่ำแบบรายชั่วโมง อีกทั้งส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2561 ที่ผ่านมามีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นในทุกหมวดสินค้า แต่อาจมีการชะลอตัวเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ส่งผลให้ GDP ทั้งประเทศตลอดปี 2561 เติบโตราวร้อยละ 4.0-4.2 แต่ภาคค้าปลีกมีการเติบโตเพียงร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ภาคการค้าปลีกมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยภาคการค้าปลีก-ค้าส่งมีสัดส่วน GDP ด้านการผลิต ร้อยละ 16.1 เป็นอันดับ 2 รองลงมาจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การขยายตัวของภาคค้าปลีกค้าส่งนำการพัฒนาสู่จังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 16 ของการจ้างงานทั้งประเทศ

โดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีภาคค้าปลีกมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยอดเม็ดเงินการลงทุนของกลุ่มค้าปลีก (Modern Chain Store) จากปี 2016-2018 อยู่ที่ประมาณ 130,200 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละประมาณ 43,400 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงมากและสูงกว่าการก่อสร้างบีทีเอส (123,300 ล้านบาท) หรือการประมูลคลื่น 4G 900 MHz (76,000 ล้านบาท) อีกด้วย ซึ่งการลงทุนของกลุ่มค้าปลีก โมเดิร์น เชน สโตร์ ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 210,000 คนต่อปี และการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 150,000 คน

ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีความกังวลอย่างยิ่งว่าภาคค้าปลีกอาจจะไม่สามารถรักษาระดับการลงทุนเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าหากการเติบโตด้านยอดขายค้าปลีกยังมีทิศทางทรงตัวอย่างต่อเนื่องเช่นนี้

ตัวแปรเศรษฐกิจปี 2562 : ความไม่ชัดเจนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัว และความไม่แน่นอนของการเมืองหลังการเลือกตั้ง

1. ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2019 ทุกสถาบันต่างเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในแบบชะลอจากปี 2018 ปี 2019 ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งการท่องเที่ยวที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

2. การเติบโตของภาคการส่งออกมีผลโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลมายังภาคค้าปลีกทางอ้อมจากการจ้างงานเพิ่มขึ้นและการมีรายได้ในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2019 น่าจะมีทิศทางที่เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2018 แต่ก็ยังขาดความชัดเจน

3. การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาการของ 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ หากยังคงเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลประกาศไว้อาจทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีความมั่นใจ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการต่างๆ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัว โดยเฉพาะเงินที่หมุนเวียนผ่านการจ้างงานและการจัดซื้อจัดจ้างจะหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว การให้ Visa on Arrival รวมถึงมาตรการ Double Entry Visa อาจจะช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง แต่หากโครงสร้างภาษีนำเข้าและการดำเนินการของร้านค้าปลอดภาษีและอากรยังมีความบิดเบือน การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวร้านค้าในเมืองก็ยังคงไม่เกิดผลดีต่อการเติบโต

5. สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของกลุ่มคนฐานรากกลุ่มใหญ่ของประเทศ จากการคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์อาจไม่เพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดโลก แต่อาจมีเพียงข้าวที่ทำรายได้ได้ดีในระดับหนึ่ง

6. เสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ธุรกิจค้าปลีกคงต้องเฝ้าติดตามบรรยากาศโดยภาพรวม ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการตัดสินใจเดินหน้าการค้าและการลงทุนในปีต่อๆ ไป

7. โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปี 2019 กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางลงล่าง “ซึม” กลุ่มฐานผู้บริโภคกลางขึ้นบน “ทรง” และทั้งภาคค้าปลักยังคงต้อง “เสี่ยง” กับความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน

*** การคาดการณ์สถานการณ์ค้าปลีกครึ่งแรกปี 2019

อุตสาหกรรมภาคค้าปลีกคงหวังไม่ได้กับ “มาตรการอั่งเปาช่วยชาติ” ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการจับจ่ายกว่าแสนล้านโดยมีผู้บริโภคเข้าร่วมโครงการกว่า 6 ล้านคน แต่ข้อมูลล่าสุดมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเพียงหลักหมื่นคน ทำให้การจับจ่ายเหลือเพียงประมาณหมื่นล้านบาท เมื่อรวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีเงินสะพัดราว 50,000 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกจะมีเงินสะพัดเพียงประมาณ 60,000 ล้าน ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย ดังนั้น ภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกคงจะไม่เห็นการเติบโตภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

การคาดการณ์สถานการณ์ครึ่งหลังปี 2019

1. ในครึ่งปีหลัง หากภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในไตรมาสหนึ่ง ผลจากการลงทุนนี้จะส่งผลต่อการเติบโตแก่ภาคค้าปลีกในปลายไตรมาสที่สามต่อต้นไตรมาสที่สี่ แต่หากไม่เป็นตามระยะเวลาดังกล่าว ครึ่งปีหลังก็คงจะ ซึม ถึง ทรุด ในบางกลุ่มประเภทธุรกิจ Segment

2. โดยรวมดัชนีค้าปลีกปี 2019 อาจจะทรงตัวหรืออาจจะต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2018 คาดว่า การเติบโตน่าจะอยู่ราว 3.0-3.1% ซึ่งก็ยังน้อยกว่า GDP ทั้งประเทศที่คาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตราว 3.5-4.0%

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐบาลจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

1. รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งอย่างจริงจัง เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาคการค้าปลีก-ค้าส่งมีสัดส่วน GDP ในด้านการผลิตเป็นที่สองรองจากภาคอุตสาหกรรม ขณะที่มีการจ้างงานเป็นอันดับหนึ่งของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ขณะเดียวกัน ภาคการบริโภคค้าปลีก-ค้าส่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 55 ของมูลค่าการบริโภคภาคเอกชน

2. เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษีที่ถูกบิดเบือน รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองให้เพิ่มขึ้น

3. สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประกาศจัดงาน “Thailand Brand Sale” ระยะเวลา 3 เดือน (ช่วง low season ของการท่องเที่ยว หรือช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม) ลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น สร้างบรรยากาศการจับจ่าย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ให้กลับคืนมา

4. ภาครัฐต้องไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อรัฐจะสามารถสร้างรายได้มากขึ้น

5. ปัจจุบันกลุ่มค้าปลีกมีความต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานรายชั่วโมงที่ไม่สามารถจ้างงานได้เพียงพอ ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มที่ขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มบุคคลหลังเกษียณ ที่ไม่มีรายได้แต่ยังมีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา 8 ชั่วโมง จึงเหมาะสมที่จะจ้างกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นรายชั่วโมง ภาครัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้มีการออกกฎระเบียบประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงเพื่อให้สามารถจ้างงานบุคคลกลุ่มดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้พนักงานที่ไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา หากทำงานเป็นรายชั่วโมงจะต้องมีรายได้ต่อวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งหมายความว่า หากบริษัทฯ จะจ้างพนักงานรายชั่วโมงทำงาน 4 ชม. ก็ต้องจ้าง 300-360 บาท ตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน

6. นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ ขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 15,000 บาท และขอให้พิจารณากรณีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท ให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดที่ 15,000 บาท เพราะปัจจุบันหากค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เลย และสามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง ตามข้อ 5

7. ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจบริการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระบบทวิภาคี โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ และอาจให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษีหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกทั้งภาครัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนการนำคุณวุฒิวิชาชีพมาเป็นมาตรฐานการจ้างงานโดยเริ่มที่การจ้างงานภาครัฐก่อน

8. รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่าน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้เส้นทางบก


กำลังโหลดความคิดเห็น