xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ลุยตั้ง บ.บริหารทรัพย์สิน ปั้นรายได้ 3 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร.ฟ.ท.คาดชง ครม. ก.ค.นี้ เคาะตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน เดินหน้าพัฒนาที่ดินทำเลทอง 3.9 หมื่นไร่ทั่วประเทศมูลค่ากว่า 3 แสนล้าน เปิดเวทีชี้แจงพนักงานร่วมพลิกฟื้นองค์กร

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน ให้ผู้บริหาร พนักงานการรถไฟฯ ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ

ที่ปรึกษาจะเตรียมความพร้อมจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเอกสารการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รายละเอียดนโยบายการจัดการการบริหารทรัพย์สิน โครงสร้างการบริหารงาน โครงสร้างทางด้านบัญชีและการเงิน และวางแผนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำหรับบริษัทบริหารทรัพย์สิน การรถไฟฯ เป็นผู้ถือหุ้น 100% ซึ่งขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคาดจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 และสามารถจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินฯ ได้ประมาณต้นปี 2563

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.มีวิสัยทัศน์การพัฒนาสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 ซึ่งร.ฟ.ท.เป็นผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ (Non-Core Assets) ทั้งประเทศกว่า 39,419 ไร่ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 300,000 ล้านบาท แต่ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างการบริหารงานขององค์กรที่มีต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเชิงธุรกิจ ทั้งการขาดบุคลากร ข้อมูล และเทคโนโลยี ส่งผลให้รายได้ผลตอบแทนจากการบริหารทรัพย์สินเหล่านี้มีเพียงประมาณปีละ 3,636 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1%

ดังนั้น แนวทางการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มรายได้ และแก้ปัญหาทางการเงินให้กับการรถไฟฯ ตามแนวทางแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟฯ และสอดคล้องกับมติการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่เห็นชอบแผนการจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้น

“บริษัทบริหารทรัพย์สินจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาหน่วยธุรกิจใหม่ที่เป็นกลไกในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้องค์กร และสามารถนำรายได้ไปแก้ไขปัญหาภาระบำเหน็จบำนาญ ปัญหากระแสเงินสด ปัญหาทางการเงิน และสามารถใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนในกิจการอื่นของการรถไฟฯ ต่อไปในอนาคต”


กำลังโหลดความคิดเห็น