xs
xsm
sm
md
lg

ดัน กม. TOD พัฒนาที่รอบสถานี ลดความเสียเปรียบผู้ถูกเวนคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ไพรินทร์” ดันออกกฎหมาย TOD หนุนพัฒนาเมืองรอบสถานีรถไฟเป็นการเฉพาะ แก้ปมกฎหมายเวนคืน ไม่เปิดช่อง และเพิ่มโอกาสผู้ถูกเวนคืนได้สิทธิ์ร่วมอยู่ในพื้นที่ได้ โดยใช้การจัดรูปที่ดินแบบญี่ปุ่น เล็งนำร่องพื้นที่ EEC

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ครั้งที่ 1 ปาฐกถาพิเศษ “ร่วมสร้างเมือง TOD เสริมศักยภาพพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจไทยมั่นคง” ว่า สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนาฯ ขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีขนส่ง (Transit-Oriented Development : TOD) ถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยให้การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการพัฒนาพื้นที่เกิดประโยชน์สมบูรณ์

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเห็นว่าควรมีการพัฒนากฎหมาย TOD ขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาที่ดินควบคู่กับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดความขัดแย้งของสังคม เนื่องจากการใช้กฎหมายเวนคืนที่ผ่านมามีปัญหาเพราะมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ คือคนที่ถูกเวนคืนเสียประโยชน์เพราะต้องออกจากพื้นที่ แต่คนที่ไม่ถูกเวนคืนแต่ที่อยู่ติดกับโครงการได้รับประโยชน์จากมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

“ประโยชน์ของการมีกฎหมาย TOD คือเครื่องมือในการได้มาซึ่งที่ดิน และทำให้สถานีรถไฟ รถไฟฟ้า มีการพัฒนาพื้นที่หรือเมืองรอบสถานีอย่างครอบคลุม ไม่ใช่พัฒนาเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ประชาชนโดยรวมได้ประโยชน์ ไม่ใช่การถูกรอนสิทธิ ซึ่งแตกต่างกันแบบกฎหมายเวนคืน เช่น คนถูกเวนคืนก็เสียประโยชน์ คนอยู่ติดกับพื้นที่เวนคืน ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีรถไฟฟ้า ได้ประโยชน์ โดยการให้กฎหมาย TOD จะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการพัฒนา จะขายที่ดินให้รัฐในราคาตลาดแล้วจะซื้อคืนเพื่อเข้ามาอยู่ที่ดินที่ได้รับการพัฒนาแล้วก็ย่อมได้ และมีมูลค่าเพิ่มของที่ดินด้วย” นายไพรินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการพัฒนาพื้นที่ ECC ซึ่งมาตรา 34 ได้กำหนดเรื่อง TOD ไว้ด้วย โดย สนข.สามารถจะเลือกพื้นที่นำร่อง TOD ได้แก่ ฉะเชิงเทรา พัทยา อู่ตะเภา

นายชยธรรม์ พรหมศณ รองผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า จะศึกษารายละเอียดหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย TOD จะครอบคลุมอะไรบ้าง โดยจะสรุปการศึกษาในปี 2563

สำหรับการศึกษาเบื้องต้นจากประเทศญี่ปุ่นพบว่ามีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือมีการแก้กฎหมายบางส่วนเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ เช่น การเก็บภาษี นอกจากนี้ยังมีการปรับแก้กฎหมายบางส่วนเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย ซึ่งทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ TOD ทั่วประเทศตามแนวเส้นทางรถไฟของไทยมีประมาณ 235 พื้นที่ จากทั้งหมด 883 สถานี


กำลังโหลดความคิดเห็น