ปตท.สผ.เล็งเข้าประมูลแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มตะวันออกกลางทั้งโอมานและยูเออี หลังรัฐบาลเตรียมเปิดทางต่างชาติเข้าลงทุนได้ ส่วนโครงการโมซัมบิกจ่อเซ็นขายก๊าซฯ เพิ่มเติมอีก 2 ล้านตัน/ปีใน ก.พ.นี้ หนุนประกาศ FID ทันครึ่งแรกปี 62
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ของ ปตท.สผ.ให้ความสำคัญต่อการลงทุนในพื้นที่ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูง โดยปีนี้โฟกัสการลงทุนในไทย พม่า มาเลเซีย โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยในส่วนของโอมานนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ทาง ปตท.สผ.ได้เคยเข้าไปลงทุนและได้ขายกิจการแหล่งน้ำมันไปแล้ว แต่ก็จะกลับเข้าไปลงทุนใหม่ ซึ่งทางรัฐบาลโอมานจะมีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในเร็วๆ นี้
ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทางรัฐบาลเตรียมที่จะมีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมแหล่งบนบก ซึ่ง ปตท.สผ.จะเข้าไปร่วมประมูลเช่นกัน จากที่เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมกับอีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศอิตาลี ชนะ 2 แปลงในทะเล จากการเปิดประมูลครั้งแรกของยูเออี ซึ่งยูเออี ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันจาก 3.8 ล้านบาร์เรล/วันในปัจจุบันนี้ เป็น 5.0 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2573 ดังนั้น จึงเปิดแหล่งปิโตรเลียมให้ต่างชาติเข้าร่วมทุน ซึ่งการประมูลในรอบต่อไป ทาง ปตท.สผ.ยังไม่ขอเปิดเผยว่าจะร่วมทุนกับรายใด
นายพงศธรกล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาโครงการโมซัมบิกว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มเติมอีก 2 ล้านตัน/ปี หลังจากเชลล์ทำสัญญาซื้อแอลเอ็นจีไป 2 ล้านตัน/ปีเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้โครงการโมซัมบิกมีสัญญาขายก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 9.5 ล้านตัน/ปี จึงมั่นใจว่าโครงการโมซัมบิกจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID)ได้ภายในครึ่งแรกปี 2562 ตามเป้าหมายที่วางไว้ และจะเริ่มผลิตแอลเอ็นจีได้ภายในปี 2567
หลังจากนี้ ทาง Anadarko ผู้ดำเนินการจะจัดหาแหล่งเงินกู้ และประมูลหาผู้รับเหมา ซึ่งเบื้องต้นพบโครงการนี้สามารถลดต้นทุนลง 15-20% จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 2.3-2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเหลือเพียง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นสัดส่วนที่ ปตท.สผ.ลงทุน 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐตามสัดส่วนการถือหุ้น 8.5%
ส่วนสัญญาการซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีของ บมจ.ปตท.จากโครงการโมซัมบิกจำนวน 2. 6ล้านตัน/ปีนั้น จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาแต่อย่างใด
ด้านโครงการแคชเมเปิล ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯ ที่อยู่ในระหว่างการสำรวจและพัฒนา ขณะนี้ ปตท.สผ.อยู่ระหว่างทบทวนการลงทุน คาดว่าในปีนี้จะมีความชัดเจน ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนหลายรายสนใจที่จะเข้าลงทุน โดยบริษัทเตรียมเปิด DATA ROOM เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาข้อมูลก่อนเสนอเงื่อนไขการลงทุนมาให้บริษัทพิจารณา
ทั้งนี้ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งปัจจุบันโครงการอยู่ในระหว่างการเตรียมพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ และก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งในระยะแรกประกอบด้วยโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว 2 สายการผลิต (train) กำลังการผลิตรวม 12.88 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับการพัฒนาแหล่งโกลฟินโญ-อาตุม (Golfinho-Atum)