ร.ฟ.ท.ปั้นฝันเลิกขาดทุน ปี 66 เดินแผนฟื้นฟู-ทางคู่สร้างเสร็จ 2,464 กม. ปลุกพนักงานต้อง “ปรับ-เปลี่ยน” การทำงานใหม่ เตรียมลุยแผนเปลี่ยนระบบเดินรถเป็นไฟฟ้า รัศมี 250-500 กม. บุกตลาดชิงผู้โดยสารจากโลว์คอสต์และรถตู้ เผยปี 64 เปิดสีแดง คาด 2-3 ปีผู้โดยสารทะลุ 8 หมื่น/วัน
วันนี้ (7 ก.พ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดงาน “Change to the Future” ครั้งที่ 1/2562 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอนาคตใหม่รถไฟไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนฟื้นฟูกิจการฯ แก่พนักงานการรถไฟฯ ระดับ 8 ขึ้นไปทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคเข้าร่วม 850 คน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้แผนพัฒนารถไฟค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรก 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม. จะเสร็จในปี 2566 ซึ่งบอร์ดได้พยายามผลักดันแผนการพัฒนาอย่างโปร่งใสเพื่อวางรากฐานที่ดีให้แก่ ร.ฟ.ท. ซึ่งการขนส่งคนและสินค้าด้วยระบบรางจะเป็นอนาคตเพราะประหยัดต้นทุน นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังมีที่ดินจำนวนมาก เช่น ย่านบางซื่อ, มักกะสัน, ย่านแม่น้ำ ที่จะสร้างรายได้มหาศาล และคาดว่าจะจัดตั้งบริษัทลูกเดินรถสายสีแดง, บริหารทรัพย์สิน ได้ภายใน 2 เดือนนี้
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า พนักงานทุกคนต้องรู้ข้อเท็จจริงถึงการทำงาน การก่อสร้าง แผนโครงการต่างๆ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอยากให้ทุกคนเชื่อมั่นในองค์กรและร่วมมือกันเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยปี 2562 คาดมีรายได้ 9,760 ล้านบาท รายจ่าย 17,199 ล้านบาท ขาดทุน 7,439 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 21,845 ล้านบาท มีหนี้สะสม 141,986 ล้านบาท หาก ร.ฟ.ท.ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในปี 2566 หนี้สะสมจะเพิ่มเป็น 199,279 ล้านบาท โดยจะมีรายได้เพียง 10,601 ล้านบาท รายจ่าย 19,481 ล้านบาท ขาดทุนสะสมถึง 25,646 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของงบประเทศแผ่นดิน
ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าในปี 2566 จะหยุดการขาดทุน หรือ EBITDA เป็นศูนย์ เนื่องจากโครงข่ายทางรถไฟจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมี 4,044 กม. เป็นทางคู่ 357 กม. โดยรัฐได้ลงทุนรถไฟทางคู่ 11 โครงการที่จะเสร็จในปี 2566 จะทำให้ทางรถไฟเพิ่มเป็น 4,370 กม. โดยเป็นทางคู่ 2,464 กม .และในปี 2572 มีทางรถไฟเพิ่มเป็น 5,367 กม. โดยเป็นทางคู่ 4,326 กม. ซึ่งเป้าหมายใน 10 ปีจะเพิ่มการขนส่งสินค้าจาก 12 ล้านตัน/ปีเป็น 38 ล้านตัน ขนส่งผู้โดยสารจาก 11 ล้านคนเป็น 24 ล้านคน/ปี ปรับการเดินรถจากระบบดีเซลเป็นไฟฟ้า เพิ่มความถี่จาก 200 ขบวนเป็น 800 ขบวน/วัน
“พนักงานรถไฟต้องปรับทั้งความคิด ปรับวิธีการทำงาน ปรับการเดินรถใหม่ ขบวนไหนขาดทุน ปรับเปลี่ยนให้คุ้มทุนได้หรือไม่ ทำหลายๆ วิธี แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นจะยกเลิกได้หรือไม่ เป้าหมายคือต้องลดขาดทุนให้ได้ ฝ่ายการตลาดต้องสำรวจตลาด โดยตามสถานีปลายทาง ลงรถไฟแล้วจะไปต่ออย่างไรถึงสะดวก บริการบนรถต้องดี และเจาะกลุ่มแพกเกจทัวร์ และผู้สูงอายุ ซึ่งเส้นทางที่จะสร้างรายได้ในอนาคต เช่น โคราช, ชุมพร, พิษณุโลก เพราะเมื่อทางคู่เฟสแรกเสร็จจะแข่งเรื่องเวลา และราคากับโลว์คอสต์และรถตู้ได้”
ส่วนรถไฟชั้น 3 ที่เป็นบริการเชิงสังคม (PSO) นั้น แม้จะอยู่คนละบัญชีและมีคณะกรรมการ PSO พิจารณา แต่ยังใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับบริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้หารือกับนโยบายเบื้องต้นว่าควรปรับรูปแบบเป็นการจ้างรถไฟให้บริการ และแยกบัญชี และรถสำหรับบริการ PSO โดยเฉพาะเพื่อความชัดเจน ซึ่งยืนยันว่าบริการ PSO ยังต้องมีสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อย
***ปี 64 เปิดสีแดง คาด 2-3 ปีมีผู้โดยสาร 8 หมื่น/วัน
นายวรวุฒิกล่าวว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. จำนวน 10 สถานี จะเปิดให้บริการในเดือน ม.ค. 2564 พร้อมกับเปิดสถานีกลางบางซื่อ คาดว่าจะมีผู้โดยสารแตะระดับ 8 หมื่นคน/วัน ภายใน 2-3 ปี ซึ่งจะเป็นจุดคุ้มทุน (Break event) และคาดว่าสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช คาดว่าจะเริ่มประมูลก่อสร้างภายในปีนี้ แล้วเสร็จปี 2566 และอนาคตจะขยายสายสีแดง ทางเหนือไปถึงบ้านภาชี, ตะวันออกถึงฉะเชิงเทรา, ตะวันตกถึงนครปฐม, ด้านใต้ถึงปากท่อ มีรัศมีประมาณ 100 กม.
***ชงแผนลงทุนระบบเดินรถใช้ไฟฟ้าแทนดีเซล
นอกจากนี้ มีแผนการปรับเปลี่ยนการเดินรถไฟปัจจุบันขนาดราง 1 เมตรเป็นระบบไฟฟ้า โดยการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบ ETCS ( European Train Control System) Level1 ซึ่งระยะที่ 1 จะดำเนินการในรัศมี 250 กม.รอบ กทม. และระยะที่ 2 รัศมี 500 กทม. โดยจะนำเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณาในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เบื้องต้นลงทุนระบบประมาณ 30 ล้านบาท/กม. ส่วนขบวนรถจะต้องมีการเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันดีเซลเป็นไฟฟ้า โดยจากหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าไปใช้รถจักรไฟฟ้า (Electric Locomotive) และจากรถดีเซลราง (DMU) ไปเป็นรถชุดไฟฟ้า EMU (Electric Multiple Unit) ซึ่งจะเร่งทำแผนจัดหาให้สอดคล้องกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 จะมีเพียงรถไฟสีแดงที่เข้าสถานีบางซื่อ ส่วนรถไฟทางไกลและชานเมืองที่เป็นรถดีเซลทั้งหมดจะยังคงวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการเรื่องระบบไฟฟ้า ขบวนที่มีความพร้อมเพื่อทยอยใช้สถานีกลางบางซื่อและปรับหัวลำโพงเป็นสถานีจอดสายสีแดง และด้านบนพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์หรือโรงแรมเพื่อหารายได้ต่อไป