xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.จ่อปิดดีลสัมปทาน “ไอซีดีลาดกระบัง” “เอ แอล จี” เสนอลงทุน 4 พันล้านปรับปรุงบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร.ฟ.ท.ชงบอร์ด 8 ก.พ.พิจารณาผลประมูลไอซีดี ลาดกระบัง “กลุ่มเอ แอล จี” ฉลุยยื่นรายเดียว ข้อเสนอเป็นประโยชน์ ทุ่ม 4 พันล้านปรับปรุงพื้นที่ การันตีค่าบริการตลอด 20 ปี ดันสินค้าเพิ่ม 1 ล้านตู้ ใช้ระบบรางลดต้นทุนลอจิสติกส์

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.วันที่ 8 ก.พ.นี้ จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบังให้บอร์ดพิจารณา รวมถึงรายงานถึงกรณีสัญญาจ้าง นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร เป็นผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ครบกำหนดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 62 ด้วย 

รายงานข่าวแจ้งว่า จากที่ ร.ฟ.ท.ได้เปิดประมูลบริหารสถานีไอซีดี ลาดกระบัง ขนาด 647 ไร่ ระยะเวลา 20 ปีวงเงินลงทุน 40,000 ล้านบาท ลาดกระบัง มีบริษัทเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอ 1 ราย คือ กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ประกอบด้วย บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โอเชี่ยนเน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด จากที่ได้ซื้อเอกสารข้อเสนอจำนวน 10 ราย 

คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของกิจการร่วมค้า เอ แอล จี ตามขั้นตอน ตามเงื่อนไขทีโออาร์ และตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยเอกชนได้เสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและผู้ใช้บริการ เช่น เสนอลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาทในการปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการตลอด 20 ปี, กำหนดอัตราค่าบริการที่จัดเก็บ ได้แก่ ค่ายกตู้ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ต่ำกว่าอัตราที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดเก็บที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ในปัจจุบัน และการันตีจะไม่มีการปรับขึ้นเกินจากอัตรานี้ไปตลอดอายุสัญญา 20 ปี ขณะที่ ร.ฟ.ท.จะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ตามระเบียบ โดยปรับขึ้นในอัตรา 5% ทุก3 ปี เป็นต้น

ทั้งนี้ การเสนอค่าบริการที่ต่ำได้เนื่องจากมีการคาดหมายว่าปริมาณตู้สินค้าที่ใช้บริการจะเพิ่มจากปัจจุบัน 3-4 แสนตู้ต่อปีเป็น 1 ล้านตู้หลังจากนี้ เมื่อมีการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน แก้ปัญหาจราจร และความแออัดได้ การบริหารจัดการพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะรองรับปริมาณตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายของโครงการ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการบรรจุและแยกตู้สินค้า (Container) ที่มีการนำเข้า หรือการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ลดต้นทุนด้านการใช้พลังงานขนส่งสินค้าตามนโยบายของรัฐ และช่วยลดต้นทุนการในการขนส่งให้ผู้ส่งออกและนำเข้าของต่างประเทศ เนื่องจากระบบเป็นการขนส่งที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่สามารถขนส่งสินค้าได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก มีความปลอดภัย ช่วยลดปัญหาด้านจราจร และช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น