“อนุพงษ์” เปิดทางเอกชนร่วมทุนท้องถิ่นผุดโรงไฟฟ้าขยะ เหตุรัฐไม่มีเงินพอ ลั่นมีเวลา 1-2 เดือนในตำแหน่ง รมว.มหาดไทยจะเร่งรัดโรงไฟฟ้าขยะให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะและใช้ 3R หวังลดปริมาณขยะลงจากปัจจุบันคนไทยสร้างขยะปีละ 27 ล้านตัน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “20 ปีขยะหมดประเทศไทย? ด้วยกลไกตลาดทุน” ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาขยะที่ดีที่สุดคือการกำจัดด้วยการเผาเป็นพลังงานในรูปโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทุนกับหน่วยงานท้องถิ่นในรูปแบบใดก็ได้เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมีความคุ้มทุน เพราะหากนำขยะไปเผาอย่างเดียวจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และภาครัฐเองก็ไม่มีเงินลงทุนเพียงพอในการสนับสนุน
ทั้งนี้ การกำจัดขยะในแต่ละพื้นที่เป็นความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นนิติบุคคล โดยกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้มีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม (คลัสเตอร์) รวม 300 กว่าแห่งเพื่อรองรับการกำจัดขยะของ อปท.ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการที่ค่ากำจัดขยะที่ประชาชนจ่ายนั้นไม่สะท้อนต้นทุนในการกำจัดขยะ ผู้ทิ้งขยะไม่ได้เป็นผู้รับภาระขยะที่สร้างขึ้น ทำให้ อปท.ขาดแคลนงบประมาณในการกำจัดขยะ ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง การทิ้งขยะข้ามเขต เป็นต้น
ในแต่ละปีกรุงเทพฯ ต้องใช้เงินในการกำจัดขยะปีละ 6.5 พันล้านบาท แต่เก็บเงินค่ากำจัดขยะได้เพียง 500 ล้านบาท ส่วนท้องถิ่นมีภาระในการกำจัดขยะสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จำเป็นต้องมีการรณรงค์แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และมีการนำ 3R คือ Reduce Reuse Recycle มาใช้เพื่อลดปริมาณขยะลง โดยยอมรับว่าขณะนี้มีปริมาณขยะราวปีละ 10 ล้านตันจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละปีของไทย 27 ล้านตันที่ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้อง
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานักลงทุนส่วนใหญ่กังวลในการเข้ามาร่วมทุนโรงไฟฟ้าขยะเกี่ยวข้องข้อกฎหมายและการประสานงานกับท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของขยะทำได้ยาก ซึ่งกฎหมายรักษาความสะอาดฯ ให้ใช้หลักการ พ.ร.บ.ร่วมทุน ทำให้ต้องผ่านความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย ซึ่งตนยังอยู่ในตำแหน่งนี้อีก 1-2 เดือน ก็จะเร่งรีบผลักดันโรงไฟฟ้าขยะให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่มาก็น่าจะสานต่อการแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
ด้านนายทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยาม พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาขยะให้หมดไปใน 20 ปีข้างหน้าจะต้องมีการเริ่มคัดแยกขยะอย่างจริงจัง รวมทั้งดำเนินการ 3R อย่างถูกต้อง จากเดิมที่ทิ้งขยะทุกประเภทรวมกันทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกขยะ ทำให้การกำจัดขยะจึงใช้วิธีแค่เพียงฝังกลบหรือเผาทิ้ง
นายคณพศ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด กล่าวว่า การฝังกลบขยะไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาขยะ เพราะถ้าขยะไม่ได้ผ่านการคัดแยก มีพลาสติก การฝังกลบไม่ทำให้เกิดการย่อยสลาย ดังนั้น วิธีกำจัดขยะโดยนำเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องเพราะโรงไฟฟ้ามีการควบคุมมลพิษก่อนปล่อยสู่อากาศ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะมีโรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่ในตัวเมืองเพื่อประหยัดค่าขนส่ง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพร้อมที่จะสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยจะเห็นได้จากมติ กพช.ได้ปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้มากขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์ รวมเป็น 900 เมกะวัตต์
นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า การใช้กลไกตลาดทุนเข้ามาช่วยการจัดการปัญหาขยะ สามารถใช้วิธีการจัดสรรเงินทุนด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) เพื่อที่จะให้สามารถระดมเงินทุนทางการเงินที่ต่ำได้
ด้านนายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่องทางการทำไฟแนนซ์ของการระดมทุนเพื่อดำเนินโครงการ ขั้นตอนแรกจะต้องใช้เงินลงทุน 150 ล้านบาทเพื่อให้ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการบ่อขยะ จากนั้นเมื่อได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าจาก กกพ.แล้วจะต้องใช้เงินลงทุนราว 1,200 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาด 10 เมกะวัตต์ และจะใช้เวลา 2 ปีเพื่อจ่ายไฟเข้าสู่ระบบ จึงจะสามารถระดมทุนผ่านการขายหุ้นไอพีโอเป็นครั้งแรกได้