xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.แนะรัฐลดภาษีฯจูงใจให้รถสาธารณะเปลี่ยนเป็นรถ EV แก้ฝุ่น PM 2.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส.อ.ท.ออกมาตรการเร่งด่วนรับมือ PM 2.5 ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศดูแลกระบวนการผลิตและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่จะไม่ก่อให้เกิดฝุ่น ให้นโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Work at home ส่วนระยะยาวต้องเป็นโรงงานเชิงนิเวศ หรือ Eco Factory และรัฐควรกำหนดนโยบายใช้รถไฟฟ้า รถสาธารณะ เป็นรถไฟฟ้า เช่น รถเมล์ แท็กซี่สามล้อ รถตู้โดยสาร รถสองแถว ต้องเป็น EV โดยรัฐบาลลดภาษีนำเข้าและสรรพสามิตจูงใจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 มีสาเหตุหลักมาจาก 4 ส่วนหลักๆ คือ 1) การเผาชีวมวล พืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย เศษฟางข้าว ข้าวโพด 2) เกิดจากโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงจำพวกแกลบ เศษไม้ น้ำมันเตา โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไป ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่หากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง จะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง 3) การคมนาคมทางบก ได้แก่ รถยนต์ รถโดยสารสาธารณะที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ 4) การก่อสร้าง ซึ่งสมาชิก ส.อ.ท.ส่วนใหญ่เป็น SMEs และต้องการความช่วยเหลือในการเพิ่มประสิทธิภาพและการดูแลในด้านดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้มีมาตรการดำเนินการในระยะเร่งด่วนคือ 1. ขอความร่วมมือไปยังสมาชิกในการดูแลความสะอาดและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น การกองเก็บวัตถุดิบที่จะฟุ้งกระจายได้ การขนส่งวัตถุดิบและสินค้า กิจกรรมการก่อสร้างต่างๆ และบริเวณถนนรอบโรงงาน ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่จะมีมาตรการกองเก็บวัตถุดิบภายในอาคาร การพรมน้ำเพื่อป้องกันวัตถุดิบฟุ้งกระจาย การใช้รถดูดฝุ่น และการใช้มาตรการล้างล้อ และทำความสะอาดภายในท่อไอเสียของรถบรรทุกขนส่ง ทั้งขาเข้า-ออกนอกโรงงาน

2. ดูแลตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ อาทิ เตาเผา boiler เครื่องบำบัดฝุ่น ให้มีประสิทธิภาพ และเลือกใช้เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ก๊าซธรรรมชาติ รวมทั้งมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ 3. ตรวจสอบวิเคราะห์ hotspot ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น เพื่อเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและป้องกันอย่างใกล้ชิด 4. ให้นโยบายการทำงาน work at home รวมทั้งใช้ระบบสื่อสาร online และ E-office เป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบฝุ่นจากการเดินทางและดูแลสุขภาพพนักงาน

ส่วนมาตรการระยะยาว ได้แก่ 1. ออกมาตรการดูแลส่งเสริมคู่ธุรกิจ (Supply Chain) ให้มีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Process) และได้รับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) 2. เน้นการส่งเสริมและให้ความรู้กับคู่ธุรกิจ (Supply Chain) โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ชาวไร่อ้อย ข้าว เป็นต้น

3. ผลักดันให้ภาครัฐ มีนโยบายให้ ใช้รถไฟฟ้าโดย กำหนดให้รถสาธารณะ เช่น รถเมล์ แท็กซี่สามล้อ รถตู้โดยสารรถสองแถวต้องเป็น EV โดยรัฐบาลลดภาษีนำเข้าและสรรพาสามิตจูงใจ 4. ให้ติดตั้งเครื่องมือวัดค่าฝุ่นขนาดเล็กกับทุกกิจการที่มีอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น