xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ผุดแอป “BKK RAIL” มี.ค.นี้ ลิงก์ข้อมูลรถไฟฟ้าทุกสาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สนข.ผุดแอปฯ “BKK RAIL” ศูนย์รวมข้อมูลโครงข่ายรถไฟฟ้า เชื่อมข้อมูลการเดินทาง ยกระดับชีวิตคนเมืองเปิดตัวใน มี.ค. พร้อมแอประบบฟีดเดอร์ เชื่อมราง-รถ-เรือ ไร้รอยต่อ พร้อมแก้ปมตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้า สร้างมาตรฐานกลาง ลดซ้ำซ้อน เข้าใจง่าย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานปิดสัมมนา “โครงการศึกษาการวางแผนเชิงระบบการจัดการเดินรถเพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน” ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรุปการศึกษาซึ่งมีการการวางแผนระบบการจัดการเดินรถเพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอกระทรวงคมนาคมในเดือน มี.ค. และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ในการศึกษาได้มุ่งให้ประชาชนสามารถใช้ระบบรถไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะนำแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้ารวมกว่า 400 กม.ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 5 เส้นทาง และจะแล้วเสร็จครบ 10 เส้นทางตามแผนแม่บท ในปี 2568 ซึ่งได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “BKK RAIL” เป็นศูนย์ข้อมูลระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบและจะเปิดให้ใช้งานได้อย่างเป็นทางการเดือน มี.ค. 2562

นอกจากนี้ ในเดือน เม.ย. สนข.ยังจะเปิดใช้แอปพลิเคชันระบบนำทางซึ่งเป็นระบบขนส่งเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) เช่น เรือ รถเมล์ จะทำให้มีข้อมูลในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ในการศึกษาได้เก็บข้อมูลศึกษาตั้งแต่ปี 2560 กำหนดรูปแบบในการพัฒนาและตัวชี้วัด ได้แก่ ปริมาณการเดินทาง, การใช้ประโยชน์พื้นที่เขตทาง เป็นต้น

ขณะที่การวางแผนเชิงระบบการเดินรถเพื่อยกระดับบริการนั้น มี 5 เรื่อง คือ 1. การกำหนดชื่อและรหัสสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐาน เข้าใจง่าย รูปแบบชัดเจน 2. การกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้ในการกำกับ ดูแล เช่น ความตรงต่อเวลา (ล่าช้าไม่เกิน 5 นาที/จำนวนเที่ยวทั้งหมด) ความปลอดภัย การให้บริการของพนักงานจะมีค่ามาตรฐานชี้วัด หากโครงการใดมีปัญหาจะต้องปรับปรุงอย่างไร หรือมีบทลงโทษอย่างไร

3. พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการวางแผนเชิงระบบในการจัดการเดินรถ 4. จัดทำแอปพลิเคชันข้อมูลระบบรถไฟฟ้า 5. การกำกับ ดูแล การปฏิบัติการเดินรถเชิง Digital ของหน่วยงานภาครัฐ ให้ทันต่อสถานการณ์

“ช่วงแรกแอปฯ จะเป็นข้อมูลมาตรฐาน บอกสามารถค้นหาข้อมูลเส้นทาง Offline Mode รวมถึงการแสดงสถานะโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้ อนาคตจะพัฒนาเป็นข้อมูลแบบ Real Time บอกเวลาที่รถจะมาถึง, เวลาถึงปลายทาง,คำนวณค่าโดยสาร ซึ่งจะลงนาม MOU กับผู้ให้บริการทุกราย เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลเข้ามายังศูนย์กลาง คาดว่าจะพัฒนาและใช้ได้ในปี 2563”

กำหนดมาตรฐานการตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้า

สำหรับการกำหนดชื่อและรหัสสถานีรถไฟฟ้านั้น ในแผนยังมีการแก้ปัญหาการกำหนดชื่อและรหัสสถานีรถไฟฟ้าแต่ละโครงการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เข้าใจง่าย รูปแบบชัดเจน เนื่องจากสถานีบางแห่งอยู่ใกล้กัน แต่ใช้ชื่อต่างกันทำให้สับสน เช่น ย่านหัวหมาก มีแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีหัวหมาก ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ใช้ชื่อสถานีพัฒนาการ จึงให้เปลี่ยนเป็นชื่อสถานีหัวหมาก, ย่านบางขุนนนท์ มี MRT สีน้ำเงิน สถานีบางขุนนนท์ มีสายสีส้ม ใช้ชื่อสถานีจรัญสนิทวงศ์ มีสายสีแดง ใช้ชื่อสถานีธนบุรี-จรัญฯ ก็ให้เปลี่ยนเป็นชื่อสถานีบางขุนนนท์เหมือนกัน เป็นต้น และยังมีอีกหลายจุดที่สถานีตั้งใกล้กันหรือเชื่อมกันเป็นสถานีร่วมแต่ใช้ชื่อต่างกัน เช่น วงเวียนใหญ่มีสายสีแดง กับบีทีเอส ซึ่งจะมีการหารือถือกำหนดชื่อใหม่ให้เหมาะสม
ส่วนรถไฟฟ้า MRT และบีทีเอสที่เปิดให้บริการแล้ว มีสถานีร่วม 4 จุด ชื่อไม่เหมือนกัน บีทีเอส (ศาลาแดง) กับ MRT (สีลม), บีทีเอส (หมอชิต) กับ MRT จตุจักร, บีทีเอส (อโศก) กับ MRT (สุขุมวิท) และ MRT (เพชรบุรี) กับแอร์พอร์ตลิงก์ (มักกะสัน) จะยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อเพราะประชาชนคุ้นเคยแล้ว

นอกจากนี้ ได้กำหนดตัวชี้วัด (KPI) มาตรฐาน เพื่อใช้ในการกำกับดูแล เช่น ความตรงต่อเวลา (ล่าช้าไม่เกิน 5 นาที/จำนวนเที่ยวทั้งหมด) ความปลอดภัย การให้บริการของพนักงานจะมีค่ามาตรฐานชี้วัด หากโครงการใดมีปัญหาจะต้องปรับปรุงอย่างไร หรือมีบทลงโทษอย่างไรอีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น