xs
xsm
sm
md
lg

สบพ.จับมือ “แอร์บัส” ผลิตช่างซ่อมเครื่องบิน รับ MRO อู่ตะเภา ทุ่ม 2 พันล้านผุดอาคารเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สบพ. MOU แอร์บัส” ร่วมพัฒนา 4 หลักสูตร ยกระดับช่างซ่อมเครื่องบินสู่มาตรฐาน EASA ปี 64 ผลิตช่างซ่อมเพิ่ม 3 เท่า เร่งชงของบ 2 พันล้าน ผุดอาคารเรียนในอู่ตะเภา ตั้งเป้าเป็นศูนย์การเรียนในภูมิภาค รับสอนกลุ่มประเทศ CLMV และเอเชียใต้ เล็งอนาคตเปิด PPP ร่วมแอร์บัส เพิ่มรายได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการบินระหว่างสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กับบริษัท แอร์บัส, บริษัท Triumph Aviation Service Asia, บริษัท Triumph Structures (Thailand) และ บริษัท Senior Aerospace (Thailand) ว่าแอร์บัสเป็นผู้นำของกลุ่มที่เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ร่วม MOU กับ สบพ.4 ฉบับ เพื่อพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมด้านช่างซ่อมอากาศยาน ในการผลิตบุคลากรการบิน ตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สนามบินอู่ตะเภา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมการบินของไทย

ที่ผ่านมา สบพ.และแอร์บัสได้ทำงานร่วมกัน และได้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโครงสร้างองค์กรและหลักสูตรของ สบพ.แล้ว โดยความร่วมมือนี้จะเป็นการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมและเทคโนโลยีใหม่ในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA Part 147) โดยมีเป้าหมายปี 2564 จะผลิตบุคลากรช่างซ่อมให้ได้ 350 คนต่อปี ซึ่ง สบพ.จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทยเพื่อร่วมพัฒนาการผลิตบุคลากรด้านช่างด้วย

“ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นผู้นำในการเรียนการผลิตบุคลากรด้านการบินในภูมิภาค ไทยจะใช้โอกาสในการพัฒนาอู่ตะเภา ยกระดับด้านผลิตบุคลากรของไทย คาดการณ์ว่าในปี 2580 อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโต 5.5% มีความต้องการ เครื่องบิน, นักบิน และช่างซ่อม สาขาละ 1 แสนคน สูงกว่าการเติบโตของโลก 4.7% ทั้งนี้ ไทยพร้อมเปิดกว้างในการร่วมมือกับ โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาโบอิ้งร่วมมือกับ สบพ.ในด้านการฝึกบินและโรงเรียนการบิน

สบพ.ชงของบ 2 พันล้าน ผุดอาคารเรียนใน EEC

ด้าน พล.ร.ต.ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าฯ สบพ.กล่าวว่า สบพ.ร่วมแอร์บัส พัฒนา 4 หลักสูตร ได้แก่ บุคลากรด้านซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA, การออกแบบ ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน และการซ่อมบำรุง ,ช่างซ่อมด้านอุปกรณ์ภาคพื้นต่างๆ โดยจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 120 คน/ปี เป็น 350 คน/ปี ในปี 2564 ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และสูงสุดที่ 800 คนต่อปี ซึ่งช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ยังไม่ขาดแคลนแต่ต้องพัฒนาเพื่อรองรับ โครงการ MRO ที่อู่ตะเภา ซึ่งแอร์บัสมีเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ 1. ให้ไทยผลิตบุคลากรด้านการบิน รองรับในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก 2. พัฒนาหลักสูตรฝึกบินที่หัวหินให้เป็นมาตรฐาน EASA 3. ต้องการร่วมทุนในการฝึกหลักสูตร Advance ในรูปแบบ PPP ที่จะเป็นการสร้างรายได้ให้ สบพ.ต่อไป

ทั้งนี้ สบพ.จะต้องก่อสร้างอาคารเรียนพร้อมอุปกรณ์การเรียนการสอนในบริเวณอู่ตะเภา พื้นที่ 100 ไร่ ค่าก่อสร้างกว่า 2,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอของบประมาณปี 2562 เริ่มก่อสร้างปี 2563 ใช้เวลา 18 เดือนแล้วเสร็จใน พ.ค. 2564 โดยในช่วงเริ่มเปิดหลักสูตร จะให้เรียนที่กรุงเทพฯ ก่อนทำให้เริ่มการผลิตปีละ 100 คนก่อน และปี 2564 จะได้ 150 คน หลักสูตรใช้เวลาเรียน 2 ปีครึ่ง

“ปัจจุบัน สบพ.รับนักเรียนทั้งหมดได้ประมาณ 3,700 คน อีก 2 ปีเมื่ออาคารเรียนที่กรุงเทพฯ เสร็จจะรับนักเรียนเพิ่มเป็น 5,000 คน/ปี ขณะที่อู่ตะเภา การผลิตจะคำนวณตามความต้องการของตลาด ซึ่งไม่ต่ำกว่า 500 คน/ปี และได้หารือกับประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา เช่น CLMV เอเชียใต้ ฟิลิปปินส์ ยุโรปตะวันออกเก่า ต้องการส่งคนมาเรียนที่ไทย เนื่องจากสิงคโปร์มีความคับคั่ง และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ซึ่ง ICAO ต้องการให้ไทยยกระดับการเรียนเพื่อรองรับได้ทั่วโลกด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น