“คมนาคม” เร่งแก้ปัญหาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับขนส่งสาธารณะ พบหลายจุดยังมีข้อบกพร่อง สั่ง รฟม.สำรวจกายภาพ เชื่อมสถานีรถไฟฟ้า 10 สาย กับฟีดเดอร์ทั้งรถเมล์และเรือให้สมบูรณ์ เพื่อเร่งทำแผนรวมเสนอ คจร.อนุมัติ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ว่าได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของปี 2559 ซึ่งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเส้นทางรถโดยสารในพื้นที่จำนวน 269 เส้นทาง และให้สำนักงานขนส่งจังหวัด ปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ รวมถึงเร่งรัดการดำเนินการ และเสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางรถและทางเรือให้เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ที่เปิดให้บริการและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่กำลังจะดำเนินการ
“ที่ผ่านมาการเชื่อมต่อยังไม่สมบูรณ์ซึ่งต้องให้รถไฟฟ้าเป็นระบบหลัก และขนส่งสาธารณะอื่น เช่น รถเมล์ เรือเป็นฟีดเดอร์ที่ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าได้”
ทั้งนี้ การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางรางที่สมบูรณ์ จะดำเนินการ 2 ลักษณะ คือ 1.ปรับปรุงทางกายภาพเพื่อให้การบริการที่เชื่อมได้อย่างสมบูรณ์ 2. การเชื่อมต่อระบบเพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการเดินทาง เช่น การใช้บัตรแมงมุม ซึ่งได้มอบหมายในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำรวจว่าได้มีการออกแบบให้เป็นลักษณะของสถานีร่วมหรือไม่ โดยจะแบ่งเป็นสถานีที่มีในปัจจุบัน และแบบสถานีในอนาคต
ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำรวจเส้นทางการเดินรถ จัดให้มีป้ายหยุดรถโดยสารใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า และจัดการเดินรถที่เหมาะสม ให้กรมเจ้าท่า (จท.) สำรวจเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือกับการ ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น เช่น สำรวจทางเดินเท้าระหว่างท่าเรือให้ประชาชนสามารถขึ้นจากเรือและเดินทางไปยังป้ายรถโดยสารได้ และสำรวจระยะห่างระหว่างท่าเรือกับสถานีรถไฟฟ้าเพื่อพิจารณาพัฒนาท่าเรือต่างๆ ตลอดจนการเชื่อมต่อระหว่างรถกับเรือ เพื่อรองรับการเดินทางแบบไร้ร้อยต่อของประชาชน สร้างความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าเดินทาง
อย่างไรก็ตาม รฟม.จะต้องสำรวจรายละเอียดสถานีรถไฟฟ้าทั้งที่เปิดใช้แล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวกมากที่สุด เช่น ปัจจุบัน สถานีรถไฟฟ้า MRT จตุจักร (รถไฟฟ้าใต้ดิน) กับสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต อยู่บริเวณเดียวกันแต่หลังคาไม่เชื่อมต่อกัน ถือว่าไม่สมบูรณ์ในการให้บริการ ฝนตกผู้โดยสารเปียก ซึ่งให้สรุปรายละเอียดทั้งหมดเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจาราจร (สนข.) จะทำแผนรายละเอียด ก่อนจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อขออนุมัติก่อนจะดำเนินการต่อไป เพื่อให้เห็นภาพรวมของการแก้ปัญหา จุดบกพร่องบ้าง และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินการ งบประมาณ ระยะเวลา