xs
xsm
sm
md
lg

โรงซ่อมมักกะสันชะลอกิจกรรมหวังลดฝุ่น “อาคม” สั่ง ร.ฟ.ท.เร่งขยายใช้น้ำมัน B20

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“อาคม” สั่ง ร.ฟ.ท.ขยายผลการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 จ่อหารือ ปตท.ช่วยสนับสนุนปริมาณน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการตามแนวเส้นทาง พร้อมสั่งโรงงานมักกะสันชะลอซ่อมรถบางกิจกรรม เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ติดตามมาตรการรองรับแก้ไขปัญหามลพิษจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่โรงงานมักกะสัน และพื้นที่ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ว่า ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการทดสอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในเครื่องยนต์รถไฟ เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการเพิ่มส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลจากปัจจุบันที่ 7% (B7) เป็นส่วนผสมที่ 10% (B10) ซึ่งได้ทดลองใช้กับรถดีเซลรางทั่วประเทศประมาณ 100 คัน ระยะเวลา 6 เดือน สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ จึงสั่งการให้เปลี่ยนใช้ B10 ในวันที่ 1 ก.พ. 2562 ก่อนเป็นเบื้องต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้น้ำมัน B10 นั้นยังมีปัญหาติดขัดเรื่องปริมาณน้ำมัน ซึ่งจะช่วยหารือกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนน้ำมัน B10 ให้เพียงพอต่อความต้องการของรถไฟที่มี 18 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ จะให้เร่งขยายการทดลองใช้น้ำมัน B20 เพิ่มเติมต่อไปด้วย

สำหรับการแก้ไขสถานการณ์ลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ได้กำชับให้ ร.ฟ.ท. และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อฉีดน้ำทำความสะอาดทางเท้ารอบพื้นที่บริเวณสถานีฯ แผ่นปูพื้นภายในสถานีฯ จัดเก็บกองดิน กองวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่ ฉีดน้ำเพื่อป้องกันฝุ่นละอองอย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งรั้วรอบสถานีฯ เพื่อป้องกันรถที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเข้าภายในสถานีและติดเศษดินทรายออกมาสร้างปัญหาฝุ่นละอองนอกพื้นที่ ทั้งนี้ สถานีกลางบางซื่อได้ดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว

ด้านนายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในส่วนของการลดปัญหาฝุ่นขนาดเล็กนั้น ขณะนี้ได้สั่งให้บริษัทเอกชนที่ได้รับว่าจ้างจากการรถไฟฯ ให้เข้ามาปรับปรุงสภาพภายนอกของรถโดยสารในโรงงานมักกะสัน ชะลอการซ่อมรถโดยสารดังกล่าวในช่วงที่เกิดปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลออกไปก่อน ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังเตรียมร่วมหารือกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อปรับหาวิธีการซ่อมแซมสภาพตัวรถใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียงและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดอีกด้วย

นอกจากนี้ ในด้านการเดินรถไฟนั้น ยังเริ่มระบบเดินรถแบบสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการเผาไหม้จากเชื้อเพลิงในระยะยาว ซึ่งฝ่ายการช่างกลได้พัฒนาระบบรถเพาเวอร์คาร์ขึ้นมาใช้งาน โดยใช้พลังงานจากรถเพาเวอร์คาร์เพียงคันเดียวในการจ่ายไฟไปใช้ในขบวนรถโดยสารทั้งขบวน ซึ่งยังทำให้สามารถประหยัดพลังงานอีกด้วย

สำหรับนโยบายการนำน้ำมัน B20 มาทดสอบใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเดินรถขบวนรถโดยสารเพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษ และแก้ปัญหาการเกิดฝุ่นละอองนั้น คาดว่าจะเริ่มทดสอบนำมาวิ่งเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้

ส่วนกรณีมีการเผยแพร่ภาพที่บริเวณโรงงานมักกะสัน โดยมีช่างกำลังดำเนินการซ่อมแซมรถโดยสาร โดยใช้แก๊สเผาสีด้านนอกจนเกิดควัน และเกรงว่าจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมนั้น นายศิริพงศ์ชี้แจงว่า เป็นภาพของช่างซ่อมจากบริษัทเอกชนที่การรถไฟฯ มีการว่าจ้างมาปรับปรุงสภาพภายนอกของรถโดยสารให้มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการซ่อมวาระหนักของรถโดยสารประเภทเหล็กธรรมดา ด้วยการลอกสีโป๊วเดิมออกให้ถึงเนื้อเหล็ก ซึ่งตามขั้นตอนจะมีการให้ความร้อนบริเวณผิวบางส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเผาไหม้หมดทั้งคัน อาจจะมีการเกิดควันขึ้นบ้างเล็กน้อย

“ที่ผ่านมาการเปิดให้โรงงานมักกะสันซ่อมวาระหนักของรถโดยสารประเภทเหล็กธรรมดา จะมีการเปิดซ่อมรอบหนึ่งต่อ 4 ปี เฉพาะช่วงที่มีสัญญาซ่อมเท่านั้น ซึ่งมีปริมาณการซ่อมแซมไม่มาก เฉลี่ย เดือนละไม่ถึงสิบคัน และคันหนึ่งจะใช้เวลาลอกสีประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น