กระทรวงอุตสหกรรมเผยผลการตรวจสอบ 470 โรงงานในพื้นที่เสี่ยงไม่พบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน PM 2.5 โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ 59 แห่ง 142 ปล่อง พบมีฝุ่นค่าเฉลี่ย 0.8-50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไม่เกินค่ามาตรฐานฝุ่นจากปล่องระบายของโรงงานทั่วไป
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการบริหารการป้องกันและแก้ไขปัญหา (ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน : PM 2.5) เดินหน้าดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2562) โดยระดมเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจและเฝ้าระวังโรงงานเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ โดยตรวจแล้วรวมจำนวน 470 โรงงาน ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)
นอกจากนี้ จากการกำกับ ดูแล ตรวจสอบผ่านระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องระบายอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitoring System, CEMS) ตลอด 24 ชั่วโมงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ จำนวน 59 โรงงาน 142 ปล่อง พบว่า มีปริมาณฝุ่นค่าเฉลี่ยที่ 0.8-50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐานฝุ่นจากปล่องระบายของโรงงานทั่วไป คือ 240 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มาตรฐานขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของเชื้อเพลิง)
นายพสุกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการกำกับดูแลและเฝ้าระวัง กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยการ โดยมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการตรวจและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ 7,700 โรงงาน สุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่เสี่ยง 12 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และราชบุรี) อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้โรงงานในพื้นที่เสี่ยงระมัดระวังในการประกอบกิจการไม่ให้เกิดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเกิดมลพิษทางอากาศและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป